เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผย กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จังหวัดขอนแก่น ตรวจสอบการทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 2 โดยได้จัดสอบ เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และมีผู้ร้องเรียนว่า มีการจัดทำคู่มือการสอบและทำตำหนิตรงกับข้อสอบ นำมาจำหน่ายเล่มละ 600,000 ซึ่ง ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วมีมูลความจริง ว่า ตนได้กำชับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ซึ่งเป็นต้นสังกัด ติดตามข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีพล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้มีมติให้ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สพป.ขอนแก่น เขต 2 ออกจากตำแหน่ง  โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีหลักฐานชัดว่า มีความผิดจริง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้นยังมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับข้าราชการครูที่เป็น อ.ก.ค.ศ. ในฐานะกรรมการออกข้อสอบทั้งหมด รวมถึงให้พ้นจากตำแหน่งอ.ก.ค.ศ.สพป.ขอนแก่น เขต2 ด้วย ส่วนผู้อำนวยการเขตพื้นที่ สพป.ขอนแก่น เขต 2 ก็ให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1และตั้งกรรมการสอบวินัย ด้วยว่าเข้าข่ายมาตรา 157 หรือไม่  ทั้งนี้หากผลการสอบสวนพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในครั้งนี้ด้วย ก็ต้องถูกให้ออกจากราชการสถานเดียว  ส่วนครูที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งจากการจัดสอบในครั้งนี้กว่า 40 กว่ารายนั้น หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อกับการทุจริต ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป  โดยให้สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดเร่งดำเนินการ

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า สพฐ.ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ หากพบว่ามีความผิดก็ต้องดำเนินการทางวินัยขั้นเด็ดขาด

“ด้วยสาเหตุนี้ สพฐ.จึงได้ปรับการออกข้อสอบครูผู้ช่วยในรอบต่อไปให้ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ โดยสพฐ.จะประสานกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ออกข้อสอบภาค ก และภาค ข ส่วนภาค ค การสอบสัมภาษณ์ ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ บริหารจัดการ ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหามาตรฐานข้อสอบ ซึ่งที่ผ่านมาให้ออกเป็นคลัสเตอร์แล้วเกิดปัญหา”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า โดยขั้นตอนการดำเนินการจะให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบ และส่งข้อสอบไปยังเขตพื้นที่ฯ เมื่อสอบเสร็จก็จัดส่งกระดาษคำตอบให้มหาวิทยาลัยตรวจคำตอบ และส่งรายชื่อผู้สอบผ่านร้อยละ 60 ไปให้เขตพื้นที่ฯ ประกาศรายชื่อ เพื่อสอบสัมภาษณ์ จากนั้นก็ให้นำคะแนนภาค ค ส่งให้มหาวิทยาลัยเพื่อรวมคะแนนก่อนประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนอกจากแก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานข้อสอบแล้ว ยังป้องกันเรื่องการทุจริตในการสอบด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments