เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาให้ความสำคัญกับการเข้าถึงองค์ความรู้และเข้าสู่โลกอาชีพของคนไทยทุกกลุ่ม โดยสภาการศึกษาได้มีการเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับคนไทย เพื่อให้สามารถเข้าสู่โลกอาชีพได้อย่างแท้จริง โดยงานที่เผยแพร่ได้นำเสนอ 3 เรื่อง คือ 1. Future Skills 5 ทักษะสำคัญแห่งอนาคตของคนไทยทุกช่วงวัยและแนวทางการส่งเสริม ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพของทักษะแห่งอนาคตและแนวทางการส่งเสริม โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมจัดลำดับความสำคัญจากการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) และการประมวลผลความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาคุณภาพคนไทย ได้ผลการศึกษาเป็นทักษะสำคัญแห่งอนาคต 5 อันดับแรกและแนวทางการส่งเสริมซึ่งครอบคลุมทั้งมิตินโยบายการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีของคนไทย 4 ช่วงวัย ได้แก่ ช่วงปฐมวัย ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น ช่วงวัยแรงงาน และช่วงวัยผู้สูงอายุ
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2. Soft skill การเตรียมผู้เรียนสู่การใช้ชีวิตและการทำงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการโดยการศึกษา Soft Skills ทั้งทักษะส่วนบุคคล (Personal Skills) ทักษะทางสังคม (Social Skills) และทักษะเชิงวิธีการ (Methodical Skills) ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนเมื่อเข้าสู่การใช้ชีวิตและการทำงานในแต่ละภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย คือ ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ซึ่งได้รับการจัดลำดับความสำคัญ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนากำลังคนหรือจ้างแรงงานในทั้ง 3 ภาคเศรษฐกิจ พร้อมแนวทางหลักการพัฒนา และ เรื่องที่ 3. ผลวิจัยเชิงสำรวจความฉลาดรู้ทางดิจิทัล การคิดเชิงสร้างสรรค์ และความฉลาดรู้ ของคนไทยช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น ซึ่งเป็นผลการวิจัยเชิงสำรวจความฉลาดรู้ทางดิจิทัล การคิดเชิงสร้างสรรค์ และความฉลาดรู้ ซึ่งเป็น 3 ใน 5 ทักษะแห่ง อนาคตที่สำคัญของคนไทยช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น ได้ข้อค้นพบสำคัญ คือ (1) สถานการณ์การพัฒนาและระดับทักษะในปัจจุบัน (2) ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะทั้งด้านเพศ สถานศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบและวางแผนนโยบายที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และ (3) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นของคนไทยช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น เพื่อยกระดับผลคะแนนและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ครอบคลุมทั้งข้อเสนอด้านทรัพยากรทางการศึกษา ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านระบบนิเวศของครอบครัว
“ทั้งนี้สภาการศึกษาได้จัดทำแผ่นพับ Skills for Thais ในรูปแบบอักษรเบรลล์และหนังสือเสียง เพื่อให้ผู้บกพร่องทางสายตา สามารถรับรู้เนื้อหา สิ่งจำเป็นสำหรับคนไทย หรือทักษะที่จำเป็นในการเข้าสู่โลกอาชีพได้เช่นเดียวกับคนปกติ เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลงานวิจัยเชิงนโยบาย และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาแบบครอบคลุม รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมคนไทยที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ด้วย” ดร.อรรถพลกล่าว