เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง โรงเรียนยอแซฟพิจิตร กับ พว. และ โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี กับ พว.โดย น.ส.ชนิดา จันทะโก รองผู้อำนวยการโรงเรียนยอแซฟพิจิตร กล่าวว่า โรงเรียนยอแซฟพิจิตรได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การที่ พว.ให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดความเรียนรู้แบบ Active Learning เนื่องจากบุคลากรบางกลุ่มอาจจะยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจน แต่เมื่อได้รับการพัฒนาทั้งหนังสือ คู่มือ และ สื่อเทคโนโลยีสามารถช่วยให้บุคลากรและครูมีความมั่นใจมากขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21
“ปัญหาแรกของทุกโรงเรียน คือ ครูบางส่วน ไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการสอนแบบ Active Learning แต่เมื่อมีการพัฒนาคุณครูให้เข้าใจกระบวนการสอนและการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ชัดเจน ทำให้ครูสามารถพัฒนาจนมีผลงานนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งเมื่อนำหลักการที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนก็จะส่งผลให้นักเรียนสามารถสร้างผลงานหรือชิ้นงานนวัตกรรมได้ ซึ่งถึงแม้อาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็น best practice แต่ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ นำไปใช้ในครอบครัวได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะนำไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นได้ด้วย”น.ส.ชนิดา กล่าว
น.ส.พรนภา ปรัชญาคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี กล่าวว่า โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยหวังให้มีการจัดการศึกษาที่ดี จากการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เยาวชนที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนของเราทุกคนเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีความสามารถ มีกระบวนการคิดขั้นสูง มีทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีคุณลักษณะที่ดีติดตัวไปเป็นคนดีของสังคม นำทักษะไปใช้สร้างอาชีพ สร้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตน สังคม และชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ โดยการจัดการศึกษาให้เกิดผลกับผู้เรียนดังกล่าวต้องอาศัยกระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง สรุปความรู้ได้เอง สร้างทักษะและคุณลักษณะสำคัญจากการทำงานให้ติดตัวเป็นอุปนิสัย ที่พร้อมแสดงออกเป็นสมรรถนะในการปฏิบัติงานในชีวิตจริงที่มีความหมายต่อผู้เรียน
“เราเชื่อมั่นว่า พว.มีองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิด สื่อและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาทุกระดับ ซึ่งโรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรีมีความต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูและของผู้เรียนอย่างทั่วถึง และตอบสนองการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ รวมถึงตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี จึงร่วมกับ พว.จัดทำบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ครั้งนี้ขึ้น” ผอ.โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี กล่าว
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ชัดเจนของกระทรวงศึกษาธิการแล้วว่า จะต้องจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเวลานี้จะต้องขยายผลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางที่ถูกต้องของการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งคือ การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ โดยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะทำให้การเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning พัฒนา ความสามารถในการสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างครบทุกมิติ และตอบโจทย์เป้าหมายของหลักสูตร คือมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ว่า เด็กจะต้องมีความสามารถในการแสดงออกได้อย่างรอบด้านและครบถ้วน รวมถึงต้องมีความรู้ในระดับหลักการได้
“ขณะนี้ประเทศไทยมีนักเรียนประมาณ 10 ถึง 11 ล้านคน ถ้ากระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังคิดว่าภายใน 3 ปี ถ้าทำได้ผลต่ำสุด 30% เด็กไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้ 3 ล้านนวัตกรรม ซึ่งในทวีปเอเชียยังไม่มีประเทศไหนทำได้ แต่ประเทศไทยจะทำได้ และจะกลายเป็นประเทศชั้นนำของทวีปได้ทันที”ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ สมองจะบันทึกไว้เป็นความจำระยะยาวเหมือนเล่นกีฬาชนิดใดเป็นแล้วสมองจะบันทึกไว้แล้วไม่มีวันลืม เช่น ขี่จักรยานเป็นแล้ว ว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็ไม่ลืม แล้วก็ไม่ต้องท่องด้วย เป็นหลักการกระบวนการของการเรียนรู้ แบบ Active Learning เรียนรู้แล้วทำได้ตลอดชีวิต
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวด้วยว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ นักการศึกษาทั่วโลกพูดเหมือนกันหมดว่าการเรียนรู้ต้องเรียนผ่านกระบวนการหรือผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการเรียนรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ในระดับความคิดรวบยอดอย่างมีหลักการ ซึ่งจะสามารถนำหลักการนั้นไปเรียนรู้ได้ในทุก ๆ เรื่อง เรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ได้ทั้งหมด และเรียนรู้ในชีวิตจริงได้ รวมถึงไปพัฒนาองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพของครอบครัวได้ ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะเกิดประโยชน์กับนักเรียนอย่างมาก ต่างจากการเรียนรู้รูปแบบเดิมที่เน้นการท่องจำไม่เกิดความรู้ที่แท้จริง