เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567  พล.ตำรวจเอกเพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ.เพื่อติดตามความคืบหน้าการยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA  ว่า ตนได้เร่งรัดให้คณะทำงานยกระดับคะแนนPISA  ที่มีดร.ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นประธาน ให้มีการขับเคลื่อน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตั้งคณะทำงานในแต่ละหน่วย โดยรับแนวทางการทำงาน จากคณะทำงานของ ดร.ธงชัย เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นเอกภาพเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการเสนอแผนการดำเนินการ รวมถึงมีการวิเคราะห์แนวทางการดำเนินการด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการยกระดับคะแนน PISA  เป็นประเด็นหลัก เพราะPISA เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จะมาบอกว่า มาตรฐานการศึกษาของเรายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่หรือไม่  ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการ เพื่อทำให้มาตรฐานการศึกษามีความใกล้เคียงกัน โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะต้องประสานการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้การดำเนินการยกระดับ PISA  จะมีทั้งแผนในการดำเนินงานใน 2 ระดับ คือ ระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะยาว จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ส่วนระยะสั้น จะให้มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงเข้าไปช่วยโรงเรียนใกล้เคียง โดยจัดหลักสูตรออนไลน์ เข้าไปช่วยอัพสกิล รีสกิล การจัดการเรียนการสอนให้กับครู ซึ่งโดยหลักการแล้ว ก็คงทำในลักษณะไฮบริด ทั้งระบบออนไลน์ ในภาพกว้างเพื่อให้การดำเนินการเห็นผลอย่างรวดเร็ว และหากยังมีครูกลุ่มใดที่ยังไม่แตกฉานก็อาจต้องมีการพัฒนาในรูปแบบออนไซต์อีกครั้ง  ส่วนระยะสั้น คงไม่ใช่การจัดติวให้กับเด็กกลุ่มที่จะสอบในปี 2025 เป็นพิเศษ แต่จะดำเนินการพัฒนาการจัดการศึกษาในภาพรวม โดยตนพยายามย้ำมาตลอดว่า PISA  เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ที่ต้องช่วยกัน คือ ทำอย่างไรให้เด็กทุกคน ได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้น ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ก็ได้อนุมัติให้จัดทำแผนเสนอของงบประมาณในการจัดทำแพลตฟอร์ม ในปี 2568 ถือเป็นการดำเนินการระยะที่สอง หากมีความสมบูรณ์ก็คิดว่ามาตรฐานการศึกษาของเราจะดีขึ้นแน่นอน

“ผมได้ย้ำเตือนผู้บริหารศธ. ทุกคน ให้ช่วยกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่า ทุกคนมีความตื่นตัว และพยายามทำให้มีความเป็นธรรม โดยดำเนินการทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายครู ที่มีการปรับปฏิทินจากเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พฤษภาคม มาเป็นวันที่ 1 เมษายน เพื่อให้ครูมีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับจัดการเรียนการสอนให้ทันเปิดภาคเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคม  เชื่อว่าการทำงานจะมีความเป็นระบบมากขึ้น ถือเป็นการทำงานที่เป็นระบบ และมีความเป็นเอกภาพ” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวและว่า ขอชื่นชม นายพลายเงิน ดีอ่อน อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่3/2โรงเรียนสิชลประชาสรรค์ อ.สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เข้าไปช่วยเหลือคนขับรถและช่วยขนข้าวของออกมาจากรถได้ ก่อนที่ไฟจะไหม้รถทั้งคัน ซึ่งสอบถามแล้วน้องเรียนวิชาลูกเสือ และนำทักษะลูกเสือที่ได้เรียนมาช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ของการเรียนวิชาลูกเสือสามารถแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments