เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ.เป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะวิชาชีพอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ระดับชาติ ครั้งที่ 3 ปีการศึกษา 2566 โดยมีนายวณิชย์ อ่วมศรี ประธานที่ปรึกษาด้านการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส นายเดโชวัต ทักคุ้ม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด ผู้บริหาร ครู นักเรียนและนักศึกษา เข้าร่วม ณ โดมอเนกประสงค์หน้าวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จังหวัดตาก
เรืออากาศโท สมพร กล่าวว่า โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส นับเป็นโครงการที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างมากโดยโครงการดังกล่าวนี้ มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน ในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีฐานะยากจนขาดโอกาสทางการศึกษา หรือว่างงาน ได้เข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อีกทั้งได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เพื่อขยายผลโครงการฯ จากสถานศึกษานำร่อง จำนวน 12 แห่ง เป็นจำนวน 30 แห่ง มีระยะเวลาดำเนินโครงการต่อเนื่อง 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2575 ในการจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพใน ครั้งที่ 3 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ของผู้บริหาร และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 30 แห่ง ตลอดจนให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีเวทีที่สามารถแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ ทักษะและความชำนาญ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันมีทั้งหมด 9 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะงานไม้, ทักษะงานไฟฟ้า,
ทักษะงานเชื่อม, ทักษะงานตะไบ, ทักษะงานปูน,ทักษะงานตีเหล็ก, ทักษะงานเขียนแบบ, ทักษะเครื่องยนต์เล็ก และทักษะงานประกอบอาหาร มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 30 แห่ง และมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 392 คน และขอชื่นชมความมุ่งมั่น ตั้งใจ วิริยะอุตสาหะ ตลอดจนความเสียสละ ของคณะทำงานและผู้เข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาชีพฯ และให้นำความรู้และประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาตนเองสู่การประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ตลอดจนตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอาชีวศึกษาคุณภาพสูงของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงศึกษาธิการต่อไป