เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)ปทุมธานี เขต 1 กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ประจำปีการศึกษา 2566-2568 โดยมี ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)นายวิวัฒน์ สิรพัธน์โภคิน รอง ผอ.สพป.ปทุมธานี เขต 1 ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว.
ทั้งนี้ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า น่าจะถึงเวลาที่จะต้องขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ไปพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ ซึ่งตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีการขับเคลื่อนและรณรงค์ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ลงมือปฏิบัติจริง และ มีความสุข เพราะเมื่อนักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขก็เป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรี คือ “เรียนดี มีความสุข”
“สิ่งหนึ่งที่เห็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ต้องการให้เกิดขึ้นจริง ๆ โดย สพฐ.มีความตั้งใจและมุ่งหวังที่จะขยายผลไปให้ครบทุกโรงเรียนทั้ง 30,000 กว่าโรง หลังจากที่ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่งพบว่า เด็กจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นในอนาคตโรงเรียนทุกแห่งน่าจะต้องจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพราะเราจะได้เห็นนวัตกรรมที่จะเกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่ทำให้เด็กสามารถสร้างความคิดรวบยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมได้ และโดยส่วนตัวมองว่าการที่เด็กได้เรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ยังช่วยให้เด็กรู้จักคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถป้องกันปัญหาอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรง หรือ อาชญากรรมได้ ”ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายวิวัฒน์ สิรพัธน์โภคิน รอง ผอ.สพป.ปทุมธานี เขต 1 รักษาราชการแทน ผอ.สพป.ปทุมธานี เขต 1 กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ ได้กำหนดเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนว่า ต้องการให้พัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ มีความสามารถ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง สพป.ปทุมธานี เขต 1 และ พว. ครั้งนี้ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะจะเป็นการร่วมกันพัฒนาผู้เรียนโดยเน้นกระบวนการคิด ให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นคนเก่ง คนดี เป็นนักคิด มีความสามารถทางด้านกระบวนการคิดเชิงลึก
“สพป.ปทุมธานี เขต 1 จะขับเคลื่อนและผลักดันกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เข้าไปในโรงเรียนทั้ง 102 โรงเรียนของ สพป.ปทุมธานี เขต 1 เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนทำกิจกรรมที่เน้นกระบวนการคิดสำหรับเด็ก เนื่องจากการเรียนการสอนแบบ Active Learning มีความสำคัญ ต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เพราะในอดีตเราจัดการเรียนการสอบแบบ Passive Learning ที่เป็นการถ่ายทอดโดยครู แต่วันนี้เราต้องปรับเปลี่ยนมาเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนแล้ว”นายวิวัฒน์กล่าว
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า การที่ รมว.ศึกษาธิการ และ รมช.ศึกษาธิการ รวมถึง สพฐ. เน้น เรื่องการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขและสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการขับเคลื่อนครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นปรากฏการณ์การพลิกโฉมประเทศไทยได้อย่างแท้จริง โดยมีผลวิจัยที่ว่า Active Learning พลิกโฉมการศึกษาได้จริง เพราะ Active Learning เป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติต่างจาก Passive Learning ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดข้อมูลจากครู ขณะที่ผู้เรียนเป็นผู้ฟัง แต่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ฉบับปรับปรุง 2560 กำหนดให้เด็กต้องสร้างความรู้เอง และต้องสรุปความรู้ให้เป็นความคิดรวบยอด เพื่อให้ความคิดรวบยอดเชื่อมโยงเป็นหลักการ ซึ่งสามารถนำหลักการนี้ไปใช้ในการเรียนรู้ได้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
“การจัดการเรียนสอนแบบ Active Learning จะง่ายกว่าการสอนแบบ Passive Learning ที่ครูจะต้องเอาเนื้อหามาคลี่อธิบายขยายความ แต่ตอนนี้เพียงครูเข้าใจเนื้อหาและใช้คำถามเป็นตัวดำเนินการผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะถามนำไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหนึ่งคำถามมีหลายคำตอบที่หลากหลาย จนเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งตัวเด็กและตัวครู”ดร.ศักดิ์สินกล่าว
ด้าน นายดำเนิน คำดา ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีราษฎร์บำรุง สพป.ปทุมธานี เขต 1 กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนก่อน เพราะการเรียนการสอนด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นกระบวนการที่มีเป้าประสงค์ชัดเจน มีขั้นมีตอน ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู นักเรียนจะได้รับองค์ความรู้จากกระบวนการนี้แล้วไปสร้างสรรค์จนเกิดเป็นนวัตกรรมขึ้นมา โดยการจัดการเรียนการสอนแบบนี้เป็นการให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติซึ่งนักเรียนจะมีความสุขมาก สำหรับโรงเรียนเริ่มมาประมาณสามปี พอปีที่สองเห็นได้ชัดว่านักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก และมีทักษะ เพราะเราจัดการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนศึกษาบริบทของท้องถิ่นท้องที่แล้วนำอาชีพลงสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น
“หลังจากที่ พว.ให้การสนับสนุนวิทยากรมาให้ความรู้ครู ครูที่ผ่านการอบรมก็ได้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ครูของโรงเรียนมีนวัตกรรม 100% ผมมองว่า วิธีการของ GPAS 5 Steps เป็นคำตอบที่ดีที่สุด เป็นการปรับการเรียนเปลี่ยนการเรียนการสอน ให้นักเรียนมีทักษะ การคิด ที่ทันกับโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นักเรียนรู้จักวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ใกล้ตัวเอง รู้จักการสร้างความรู้ในการแก้ปัญหา และที่สำคัญที่สุดคือรักความเป็นไทยไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นไทยเพราะเขาได้คลุกคลีกับท้องที่ท้องถิ่น”นายดำเนิน กล่าว