เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการแชร์คลิปในโลกออนไลน์ กรณีนักเรียนชั้น ม.ปลาย โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี ซึ่งนักเรียนชายคนดังกล่าว อยู่ในชุดนักเรียน ถอดรองเท้าลุยโคลนลงไปช่วยผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ขาเกิดติดในหล่มโคลนไม่สามารถขึ้นมาได้ โดยที่นักเรียนชายก็อยู่ในสภาพเปื้อนโคลนเช่นกัน แต่ก็ได้พยายามช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ จนสามารถดึงหญิงคนดังกล่าวออกมาได้ในที่สุด กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เห็นคลิปนี้แล้ว จึงฝากชื่นชมไปยังนักเรียนชายในคลิป ซึ่งทราบว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี ว่าเป็นเด็กที่มีน้ำใจ มีความกล้าหาญ ยินดีเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุโคลนดูดอย่างทันท่วงที โดยใช้ความพยายามหาวิธีการดึงขึ้นมา แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนให้ได้ โดยล่าสุดทางโรงเรียนได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่นักเรียนชายคนดังกล่าวพร้อมเปิดคลิปเหตุการณ์ให้คนทั้งโรงเรียนได้ดูไปพร้อมกันและกล่าวข้อความว่า “หนูคือความภูมิใจของครูและเพื่อน ๆ ทั้งโรงเรียนรวมถึงชาวปทุมธานีนะลูก”
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ขอยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักเรียน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ให้ยึดถือเป็นแบบอย่าง พร้อมฝากถึงเยาวชนทุกคนด้วยว่า การทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเชิดชู สามารถทำได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ตามกำลังความสามารถของตนเอง ทำดี ทำได้ ทำทันที
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวถึง กรณีที่ คนร้ายฉวยโอกาสที่มีคำสั่งประกาศยกเลิก “ครูเข้าเวร” เข้าไปขโมยเงินขายขนมในห้องสหกรณ์โรงเรียนบ้านเขตเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ว่า จากเหตุการณ์นี้ อยากเน้นย้ำถึงเจตนาของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาการ ในการยกเลิกครูเข้าเวร ไม่ให้ครูต้องมานอนเฝ้าโรงเรียน เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของครู อันมีค่ามากกว่าทรัพย์สินใด ๆ และการใช้เทคโนโลยี การประสานงานกับเครือข่ายอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ก็จะช่วยให้สามารถจับกุมคนร้ายได้ โดยครูไม่ต้องเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับคนร้ายเอง เพราะภารกิจหลักของครู คือ การสอนนักเรียนของเราให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข และจะเห็นได้ว่าการทำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเฝ้าระวังเหตุร้าย พร้อมกับการได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนได้ ถึงแม้หน้าต่างโรงเรียนจะได้รับความเสียหาย เงินจำนวนหนึ่งถูกขโมยไป แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ครูที่มานอนเฝ้าเวรเผชิญหน้ากับคนร้าย ซึ่งมีอาวุธแน่นอน อย่างน้อยอุปกรณ์ที่งัดหน้าต่างเข้ามาก็สามารถใช้ทำร้ายครูได้