เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2567 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) และพระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติฯ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ในการนี้ได้ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 พร้อมผู้บริหารหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงข้าราชการและประชาชน
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ วันนักประดิษฐ์เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ที่กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก นับว่าทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและสังคมส่วนรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 ในระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในการนำการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมของประเทศ
“ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) พิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2567 2) ภาคนิทรรศการ น้อมรำลึกฯ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และเฉลิมพระเกียรติฯ และสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย ความมั่นคง เกษตรสร้างมูลค่า อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ สังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และนวัตกรรมสีเขียว 3) มหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ มีนิทรรศการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงาน/องค์กรต่างประเทศ 4) การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 5) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยและเยาวชน/นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างและขยายผลในเชิงพาณิชย์ โดยพัฒนาทักษะการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ 6) การเสวนาและกิจกรรมบนเวที นำเสนอผลงานประดิษฐ์คิดค้นในภาคการสาธิต การบรรยาย หรือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักประดิษฐ์เจ้าของไอเดีย และ 10) ตลาดสินค้าและนวัตกรรม กลุ่มสินค้า GI สินค้าชุมชน และสินค้าพร้อมจำหน่ายจากงานส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นมีนักเรียนในสังกัด สพฐ. ลงทะเบียนเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมากในทุกวัน”ดร.เกศทิพย์ กล่าว
นอกจากนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ยังได้เยี่ยมให้กำลังใจการประชุมคณะทำงาน(อาจารย์มหาวิทยาลัยและ สสวท., ครูคณิตศาสตร์จาก รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย รร. ศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ รร. ขยายโอกาส พร้อมทั้งคณะทำงาน สบว. และ สวก.)ทำต้นแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงแรมปริ๊นซ์ตัน กทม ในการประชุมมีผู้เข้าร่วม จำนวน 40 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย และ สสวท, ครูคณิตศาสตร์จาก รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย รร. ศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ และ รร. ขยายโอกาส, คณะทำงาน สบว. และ สวก.ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรแกนนำและวิทยากรในการพัฒนาต้นแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ,เพื่อพัฒนาต้นแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น , เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ในระดับภูมิภาคและการบริการวิชาการด้วยหน่วยการเรียนรู้บูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเป้าหมายการดำเนินการ คือ 1. พัฒนาโครงสร้างเวลาเรียนและหน่วยการเรียนรู้บูรณาการสาระและตัวชี้วัด รายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ที่เน้นการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เป็น Active Learning เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและใช้เวลาในการเรียนน้อย มีเวลาทำกิจกรรมมากขึ้น สามารถสร้างความสนใจ สุนทรียะ ความงามของคณิตศาสตร์ ตลอดจนทักษะ และสมรรถนะสำคัญของนักเรียน โดยฉพาะนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมและความสนใจ ในการเรียนคณิตศาสตร์ 2. ทดลองใช้หน่วยการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ในโรงเรียนของครูที่มาร่วมพัฒนาต้นแบบหน่วยการเรียนรู้และโรงเรียนขยายโอกาสในเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยจำนวน 20 แห่ง 3. ปรับปรุงแก้ไขและขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสในเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 120 แห่ง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ซึ่งตนได้ฝากแนวคิดไว้ว่า การบูรณาการ การเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าเรียนคณิตศาสตร์เพื่ออะไร การวางแผนการจัดการเรียนรู้ และการกำกับติดตามผลเชิงประจักษ์ อย่างรอบด้าน และในการบูรณาการตัวชี้วัดข้ามสาระการเรียนรู้ต้องให้ครบถ้วนด้วย