วันที่ 31 มกราคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) และนายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีก สกร. พันตำรวจเอก ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ร่วมลงนาม พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องโถงรับรอง ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย กระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” โดยกำหนดนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยนำร่องการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถดึงดูดให้โรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาโดยการคัดเลือกจังหวัดนนทบุรีให้เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีบริบทใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการความร่วมมือ ในการส่งเสริมเติมเต็มให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาครบตามองค์ประกอบ ใน 5 ด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา
“ท้ายที่สุดแล้ว โรงเรียนคุณภาพจะสามารถดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายใกล้เคียงให้มาเรียนรวมและใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงสามารถสกัดนักเรียนที่จะไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมแข่งขันสูงในตัวจังหวัด ให้ได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอใกล้บ้าน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ปกครองในโรงเรียนคุณภาพในภาพรวม นําไปสู่ผลลัพธ์สุดท้าย ที่กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังไว้ คือ “โรงเรียนคุณภาพได้รับความนิยม เป็นโรงเรียนนานาชาติของชุมชน” นอกจากนี้ ภาพความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรีในอนาคต จะสามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า ด้วยนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยเน้นการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง เกิดความเท่าเทียม สร้างความเสมอภาคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงาน รองรับกรอบการพัฒนาการศึกษาตามแนวนโยบายดังกล่าว และกำหนดนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ต้องการลดภาระครูและนักเรียน ข้อ 4 โครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” และได้มีการคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพ เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความพร้อมสามารถให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และเอื้อต่อการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์รวมหรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน วัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม สนับสนุนงบประมาณ อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น ศรัทธา และส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การสร้างสรรค์ ผู้ปกครองมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยโรงเรียนและชุมชนสามารถจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ เพื่อบริการและเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน วัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพนำไปสู่ภาพความสำเร็จของโรงเรียนตามนโยบายฯ
นายยศพล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่ผลิตบุคลากรและพัฒนากำลังคน ระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีสมรรถนะสูง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ จัดให้มีการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Education for Career Readiness) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคีในรูปแบบการเรียนรู้คู่ การทำงาน (On the Job Learning) ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่เสียค่าใช้จ่าย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระดับวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็น เร่งด่วน ที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ให้ผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษามีความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพได้ทันต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี ในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอาชีวศึกษา ที่ช่วยสนับสนุนให้สถานศึกษา สามารถจัดการศึกษาที่เน้นสายอาชีพ ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีอาชีพ มีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้สำเร็จการศึกษามีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นไปตามความต้องการกำลังคนของประเทศ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายเรียนดี มีความสุข ของกระทรวงศึกษาธิการ