เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา สพฐ. OBEC ONE TEAM ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-31 ม.ค.2567” ณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จ.นครนายก โดย
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมโครงการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา สพฐ. OBEC ONE TEAM ซึ่งมีทั้ง ผอ.และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่จำนวน 387 คนมาร่วมอบรม ตนจึงขอถือโอกาสนี้มาแสดงความยินดีและชื่นชมทุกคนที่เข้ามาสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสําคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพในระดับพื้นที่ ถ้าดูจากกําหนดการจัดกิจกรรมจะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี มีการแบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกระหว่างวันที่ 22 – 31 ม.ค.2567 ณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท นครนายก เป็นการเสริมสร้างสมรรถนะของผู้บริหาร โดยการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ระยะที่ 2 เป็นการเรียนรู้ตามสภาพจริง (ฝึกงาน) ระหว่างวันที่ 2 – 11 ก.พ. 2567 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และระยะที่ 3 เป็นการจัดทําและนําเสนอแผนกลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาระหว่างวันที่ 15 – 17 ก.พ.2567 ณ กรุงเทพฯ


รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกระบวนการที่มีคุณค่าในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้บริหาร มีทั้ง การให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติ และถอดบทเรียนเพื่อจัดทําแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาก้าวไปข้างหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการจัดการศึกษาในอนาคตหลายๆประเทศจะเน้นรูปแบบ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันเป็นผู้นําทางเศรษฐกิจโลก ส่วนใหญ่เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ เน้นให้คนใช้ทักษะกระบวนการคิด วุฒิทางอารมณ์ สังคม เพื่อความอยู่รอด ระบบการศึกษาตามอัธยาศัย จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อตอบสนอง ความต้องการประกอบอาชีพที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ดังนั้นความคาดหวังของระบบการศึกษาไทย อาจจะแบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่ 1.การศึกษาตามระบบ ที่เน้นวิชาการเพื่อความเป็นเลิศ และ2. การศึกษาตามความถนัด ที่เน้นวิชาชีพ ตามศักยภาพของผู้เรียน

“ขอเป็นกําลังใจในการทำงาน และขอฝากให้ทุกท่านร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งการบริหารหลักสูตร การเตรียมบุคลากรเพื่อจัดการเรียนรู้ รูปแบบใหม่ การมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน การยกระดับ ผลการเรียนรู้ การปรับปรุงเชิงโครงสร้าง และการใช้เทคโนโลยีการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพราะการจัดการศึกษาจําเป็นต้อง เริ่มจากความสุข ทั้งผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อทุกคนมีความสุขจะทำให้การเรียนดีขึ้น การพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศชาติพัฒนายิ่งขึ้น และต้องร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาการศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้ แนวทางการทำงาน จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

 

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments