เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ โรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มโรงเรียนในเครือคำทอลิก หัวข้อเรื่อง “เทคนิควิธีการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) ที่ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ(GPAS 5 Steps) มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แบบยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ Thailand 4.0 ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมของครูผู้สอนสู่นักเรียนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้สืบเนื่องจาก สมาคมสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดย บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ หอมประทุม เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย และ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว.ได้ลงนามความร่วมมือกันไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ คือ มุ่งให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้จากการลงมือทำหรือการทำงาน (Task) เป็นผลงาน ผลผลิต และนวัตกรรม ผู้เรียนมีความรู้ระดับความคิดรวบยอดและระดับหลักการ โดยสามารถนำหลักการไปใช้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการเรียนรู้

บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดูจากผลสำรวจนักเรียนเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา หัวข้อ กิจกรรมใดที่นักเรียนไม่อยากให้มีมากที่สุด พบว่านักเรียนอยากให้ยกเลิกกิจกรรมหน้าเสาธง สมุดบันทึกความดี กิจกรรมค่ายธรรมะ หรือ วิชาพุทธศาสนา หรือวิชาศาสนา กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ กิจกรรมสวดมนต์ หรืออยากให้ยกเลิกวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่นักเรียนไม่อยากให้มีในโรงเรียน นั้น พ่อในฐานะเลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาคาทอลิก ตอบแทนได้เลยว่าสิ่งที่นักเรียนขอมาทั้งหมดนี้เราไม่ให้ และไม่อนุญาต ทำไมถึงบอกว่าไม่อนุญาตเพราะว่าทั้งหมดที่เด็กต้องการขัดต่อหลักการของการจัดการศึกษาของคาทอลิก เมื่อขัดกับตัวตนของเรา ถ้าเราให้ เราก็จะไม่มีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป เพราะโรงเรียนมีภารกิจอยู่ 2 ประการคือ 1.สร้างพลเมืองที่ดีของชาติ หรือสร้างพลเมืองที่ดีของโลก 2.ทำให้โรงเรียนเป็นพุทธมามกะที่ดี เป็นศาสนิกชนที่ดีตามหลักศาสนาและนี่คือ concept สองประการของการจัดการศึกษาของการก่อตั้งโรงเรียนในเครือคาทอลิก

บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ทำไมการเรียนแบบ Active Learning จึงมีความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าที่ผ่านมาเราเรียนแบบ passive learning  คือ นักเรียนเป็นผู้รับ ครูเป็นผู้ให้ แต่ปัจจุบันนักเรียนเป็นผู้เสาะแสวงหา Active กระตือรือร้น เพราะรู้ว่าการเรียนมีความสัมพันธ์กับตนเองจะทำยังไงก็ตามให้ความรู้มันหล่อหลอมเป็นตัวตนของเราที่จะเรียกว่า Active Learning ทำให้การเรียนการสอนเป็นตัวตนของเขา เขาเห็นถึงความสำคัญของการเรียนการสอนรู้ว่าสิ่งต่างๆของทุกวิชาจะหล่อหลอมให้เป็นตัวตนในอนาคตว่าเขาจะเป็นอย่างไร ซึ่งนี่ก็คือกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning  จะทำให้ความฝันของเด็กเป็นจริง

“เราทราบกันดีว่าความใฝ่ฝันของประเทศอยากได้เยาวชนเป็นคนที่มีคุณภาพ ประเทศชาติจะพัฒนาได้จะต้องอาศัยเด็กรุ่นใหม่มาพัฒนาประเทศชาติในอนาคต โรงเรียนในเครือคาทอลิก ได้เห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ นโยบายของภาครัฐก็เป็นนโยบายของพวกเราเช่นเดียวกัน เราอยากเห็นเด็กในอนาคตเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือเป็นคนดีนั่นเองนั่นคือเหตุผลที่โรงเรียนในเครือคาทอลิกทั้ง 8 โรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพาครูมาอบรมการจัดการเรียนรู้ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อทำให้กระบวนการจัดการการศึกษากับความหวังที่บอกว่าเยาวชนคืออนาคตของชาติเป็นจริงไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป”เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม โรงเรียนในเครือคาทอลิกมีทุกจังหวัดของประเทศไทยกว่า 300 โรงเรียน ดังนั้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าเป็นการ Kick off หรือจุดเริ่มต้นที่เราอบรมครูและจะขยายผลอบรมครูในแต่ละภูมิภาคต่อไปในอนาคต

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า ตอนนี้ผู้บริหารในเครือคาทอลิกพร้อมที่จะขยายอบรมครูไปทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่จะพลิกโฉมการศึกษาเปลี่ยนนักเรียนให้เป็นนวัตกรให้ได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้วเด็กสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล หรือตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่1 ซึ่ง พว.ได้นำกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps มาเป็นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเรียนก็จะเข้าไปอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด ทำให้เด็กเรียนแล้วมีความสุขมาก และจะชื่นชมกับความสำเร็จของเขาขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามวัยของเขา ซึ่งตรงนี้แหละที่จะช่วยให้โรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนานวัตกร ของประเทศในอนาคต

“ตอนนี้ได้มีการอบรมครูให้จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps กระจายทั่วประเทศ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ทำโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งมีการขยายไปทุกอำเภอ การพลิกโฉมการศึกษาให้รวดเร็วภายใน 1-3 ปี ก็ต้องนำระบบการเรียนรู้แบบ Active Learning เข้าไปสอนนักเรียนภายใน 3 ปีแรก นักเรียนมีมากว่า 1 ล้านคน ถ้าทำอย่างจริงจังเด็กทุกคนได้เข้าถึงนวัตกรรม เราทำได้ผลสำเร็จแค่ 30% หรือเท่ากับ3ล้านนวัตกรรม ซึ่งในเอเชียไม่มีประเทศไหนทำได้ แต่ประเทศไทยเราทำได้ เพราะเด็กไทยเป็นคนฉลาด อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เด็กสามารถเปลี่ยนแปลงผลทางด้านเกษตรกรรมไปสู่การบริโภคที่ตรงกับความต้องการของประเทศหรือทั่วโลกได้ทั่วทุกภูมิภาคซึ่งผมมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จได้แน่นอน”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว

นางพะเยาว์ ทองรุจิโรจน์ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน กล่าวว่า ตนยินดีสนับสนุนให้ครูทั้งโรงเรียนอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพราะเชื่อว่าการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง อีกทั้งเป็นการสอนในยุคที่ใช้AI ซึ่งเด็กจะต้องรู้เท่าทันด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments