เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 ที่ โรงเรียนนาคประสิทธิ์ แผนกอนุบาล อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษา สถานศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดย นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ตามที่สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยและสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้ลงนามความร่วมมือกัน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566  เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้จากการลงมือทำเป็นผลงาน ผลผลิต และนวัตกรรม ผู้เรียนมีความรู้ระดับความคิดรวบยอดและระดับหลักการ และสามารถนำหลักการไปใช้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้เดียวกัน และสามารถนำไปใช้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้ วันนี้ พว.ได้เข้ามาช่วยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเอกชนด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่มุ่งพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ของครูให้มีสมรรถนะและทักษะที่สำคัญ ในศตวรรษที่ 21 ที่จะส่งผลต่อการทำงานอย่างมีแบบแผนในการสร้างนวัตกรรมของครูสู่นวัตกรรมของนักเรียน โดยเน้นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์สร้างความรู้ใช้ความรู้ ผลิตผลงาน และสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และสมรรถนะของผู้เรียนให้สูงขึ้น โดยการอบรมครั้งนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษา จากสถานศึกษาเอกชนในจังหวัดนครปฐม 39 โรงเรียน จำนวน 302 คนเข้ารับการอบรม

ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การอบรมวันนี้เป็นการพูดถึงการเรียนรู้แบบ Active Learning ทำอย่างไรครูจะมีองค์ความรู้ที่จะไปจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อเด็กสามารถเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สามารถคิดและสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองได้จนเกิดเป็นนวัตกรรม หรือ เป็นนวัตกรนักคิดเรื่องใหม่ ๆ โดยที่ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปด้วยกัน  ซึ่งจะเป็นการเรียนที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข”

“กระทรวงศึกษาธิการเห็นดีด้วยกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นสิ่งที่กระทรวงอยากให้เกิดขึ้นมานานแล้ว ประกอบกับแนวทางในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่า จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน คือการร่วมมือกันของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนและทุกภาคส่วน เพื่อให้สังคมไทยได้โอกาสที่ดีที่สุด ความร่วมมือครั้งนี้จึงสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของท่านรัฐมนตรี”รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวและว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ครูควรจะเรียนรู้และนำไปขยายผลให้กับเด็ก เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากให้มาร่วมกันพัฒนาวิธีการเรียนการสอนแบบ Active Learning ซึ่งเป็นการเรียนแบบมีขั้นมีตอนให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบ ได้ลงมือทำและคิดด้วยตัวเอง สุดท้ายเด็กจะสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง และองค์ความรู้นั้นก็จะอยู่ในใจและติดตัวเด็กตลอดไป อย่างไรก็ตามเท่าที่สังเกตจะเห็นว่าครูที่เข้าอบรมวันนี้ต่างมีสีหน้าและแววตามุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าครูก็มีความตื่นตัวมีความแอคทีฟเช่นกัน

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า การพลิกโฉมการศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นสิ่งที่สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เกิดระบบการทำงานอย่างมีแบบแผน โดยการอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่คณะครูและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดนครปฐม ซึ่งคาดหวังว่าครูผู้สอนในแต่ละสถานศึกษาจะมีความเข้าใจและมีแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และการประเมินผลผู้เรียนตามเกณฑ์มาตรฐานเพื่อรองรับการประกันคุณภาพ  สถานศึกษามียุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อการจัดประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ ที่นำวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning  ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ไปพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มีแนวทางในการพัฒนาความเป็นครูมืออาชีพ รวมทั้งสามารถบริหารจัดการ ส่งเสริมพัฒนาครูผู้สอนหรือเพื่อนร่วมงานของสถานศึกษาในเรื่องการจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านการพัฒนาการคิดเชิงระบบและการทำงานที่มีแบบแผนสู่การสร้างนวัตกรรมด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี  ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับวัย พัฒนาการ ความต้องการ และความสนใจของเด็ก

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments