เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)ได้มีการแถลงข่าว “ประกาศพลิกโฉมคุณภาพการเรียนรู้สู่รูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อพัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน”โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ระหว่าง สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดยมี ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ กรรมการสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และ ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. ร่วมแถลงข่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า เรื่องการจัดการศึกษามีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติ การศึกษาเป็นการสร้างชาติ พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณค่า ได้รับความรู้ประสบการณ์ที่ดีทั้งวิชาความรู้ ความประพฤติ จิตวิญญาณ จิตอาสาเพื่อพัฒนาประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้จะไปถึงเด็กได้จะต้องผ่านครูบาอาจารย์ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนมีหลายแสนคน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะต้องชื่นชมและขอบคุณที่ได้ลงทุนลงแรงเพื่อร่วมพัฒนาการศึกษาของชาติ ผ่านกิจกรรมที่ดี ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อให้เด็กเป็นคนดีคนเก่งที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการทำงานโดยลำพังอาจจะประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อ พว.ได้เข้ามาร่วมมือในการจัดกิจกรรมก็เป็นการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มโอกาสให้กับเด็กเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตามยุทธศาสตร์ชาติด้านที่สามและด้านที่สี่ได้เป็นอย่างดี นั่นคืออนาคตประเทศเราจะมั่นคงมั่งคั่งยังยืนได้จะต้องร่วมมือหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนนี้ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ให้นโยบายซึ่งสอดคล้องกับโครงการในวันนี้ คือ เรียนดี มีความสุข โดยมีแนวทางในการทำงานคือ จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน
“วันนี้สององค์กรสำคัญคือ พว.และสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยได้จับมือกันช่วยกันพัฒนาครูอาจารย์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและจะทำให้ครูไทยมีโอกาสมากขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง Active Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงรุก ครูบาอาจารย์จัดกิจกรรมเชิงรุกให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการคิดและทำ ผ่านกระบวนการคิด GPAS 5 Steps ก็เป็นหลักคิดที่ดีของการเรียนรู้แบบ Active Learning ดังนั้นเชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจของสองฝ่าย ในการดูแลลูกหลานทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข และครูอาจารย์ก็ได้พัฒนาตนเองให้จัดการสอนอย่างมีความสุขเช่นกัน”รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
ดร.ปฐมพงศ์ กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning เหมาะสมกับการเรียนรู้ของยุคสมัยที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการที่จะมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนที่มีศักยภาพทันยุคทันสมัยในศตวรรษที่ 21 โดยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นนวัตกรรมที่จะยกระดับและต่อยอดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เคยมีการฝึกอบรมและพัฒนาครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้โรงเรียนต่าง ๆ ที่มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning มีความตื่นตัวมาก ซึ่งทางสมาคมสภาโรงเรียนเอกชนฯ คิดว่าเป็นความโชคดีที่มี พว.มาช่วยพัฒนาบุคลากร ซึ่งจากที่ได้ทำMOUร่วมกันมาหลายปีแล้ว พบว่า เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเรียนการสอนในยุคปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง การได้ทดลอง ได้สร้างนวัตกรรม ถึงแม้จะยังไม่เก่ง และยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ก็เชื่อว่าจากสิ่งที่มีอยู่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ และคิดว่าจากวันนี้ไปเราจะได้เห็นนวัตกร คือ เด็กที่มีความสามารถในการสร้างผลงานนวัตกรรมมากขึ้น โดยทางสมาคมสภาโรงเรียนเอกชนฯจะพยายามยกระดับและรักษาคุณภาพการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps อย่างเต็มกำลังความสามารถ และเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นคุณูปการต่อการศึกษาของชาติโดยส่วนรวม โดยหลังจากนี้จะมีการจัดอบรมครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งจะเริ่มที่จังหวัดนครปฐมในวันที่ 27 มกราคมนี้ จากนั้นจะไปที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศต่อไป
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการในการอบรมครูเอกชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เป็นการพลิกโฉมการศึกษาด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาครูและบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ที่มีต่อการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยเน้นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning หรือนวัตกรรมทางการศึกษา ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียนจากการเรียนรู้ปกติให้เป็นนวัตกร มีความถนัดและความฉลาดที่แตกต่างกัน สามารถสร้างผลงาน ชิ้นงาน โครงงาน และนวัตกรรมได้ โดยเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะโรงเรียนเอกชนมีการปูพื้นฐานด้านกระบวนการมานานแล้ว และครั้งนี้ก็เป็นการต่อยอดจากกระบวนการไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมนี้จะเป็นการสะท้อนให้เห็นความรู้ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นของเด็ก และร่องรอยหลักฐานทั้งระบบที่นำมาสู่ผลผลิตได้อย่างชัดเจน
ด้านบาทหลวงเดชา อาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราษฎร์บำรุงศิลป์ กล่าวว่า ทางสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย มีความมั่นใจใน พว.ที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษาเอกชนเพื่อพัฒนาคนของประเทศโดยอาศัยนวัตกรรม ซึ่งเมื่อตนได้ยินคำว่านวัตกรรม สมรรถนะ ตนเริ่มทำเลย เพราะรู้สึกเบื่อระบบการศึกษาเดิม ๆ ที่บอกความรู้เด็กให้ท่องจำแล้วไปสอบ แต่ต้องการให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ ตามวิธีการของ พว.ซึ่งยอมรับว่าเป็นงานที่ยาก แต่จำเป็นต้องทำเพื่อพัฒนาคนเพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป