เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่ สกสค.ได้เปิดรับสมัครรับผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.ตัวจริง ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2567 โดยมีผู้สมัครเข้าการสรรหา 11 รายนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครแต่ละรายจากข้อมูลใบสมัครและเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครแล้ว มีมติให้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงแนวคิดและวิสัยทัศน์ ในการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สกสค.ทั้ง 11 ราย คือ นายพีระพันธ์ เหมะรัต, นายศุภกร พจมานศิริกุล, นายภิญญา รัตนวรชาติ, นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์, นาย กฤษณ์พีรัช คมสุรศิษฐ์, นายสกล กิตติ์นิธิ, นายสมยศ อักษร, นายอำนาจ สุนทรธรรม, นายพงศ์พัฒน์ จิตตานุรักษ์, น.ส.มยุรี วรรณสกุลเจริญ และนายมังกร โรจน์ประภากร โดยกำหนดวันเข้ารับการสัมภาษณ์วันที่ 30 มกราคม หากไม่มารายงานตัวตามวันเวลาดังกล่าวจะถือว่าสละสิทธิ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อำปว่า สำหรับคุณสมบัติผู้ที่เหมาะสมจะเป็นเลขาธิการ สกสค.ตัวจริงนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์การสรรหาฯ ซึ่งจะแบ่งคะแนนเป็น 3 ส่วน คือ ประวัติ ประสบการณ์ อีกส่วนจะมาจากการสัมภาษณ์ 50 คะแนน ซึ่งจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดการบริหารงาน แนวทางการทำงาน คุณธรรม จริยธรรม โดยที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ได้กำหนดกรอบเวลาการสรรหาโดยหลังประกาศรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหา และประกาศวันสัมภาษณ์แล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอชื่อผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีความเหมาะสม เป็นเลขาธิการ สกสค.คนใหม่ ไม่เกิน 2 รายชื่อ ให้กับคณะกรรมการ สกสค.ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน พิจารณาในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนคณะกรรมการ สกสค.จะประชุมเมื่อไรนั้น เป็นอำนาจของทางคณะกรรมการ สกสค. โดยคาดว่าจะได้เลขาธิการ สกสค.ตัวจริงไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้
“พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ดำเนินการสรรหาเลขาธิการ สกสค.ครั้งนี้ อย่างตรงไปตรงมา ยึดกติกาเป็นที่ตั้ง ส่วนกรณีที่เคยมีการฟ้องกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สกสค.ในอดีตนั้นเท่าที่ตรวจสอบ ทางคดีความได้ดำเนินการจบไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีหนึ่งคดีที่ผู้ฟ้องเสียชีวิต ศาลได้สั่งจำหน่ายคดี ดังนั้นเมื่อไม่มีกระบวนการหรือข้อร้องเรียนทางกฎหมาย ก็เชื่อว่าการสรรหาจะดำเนินการต่อไปได้ โดยคณะกรรมการสรรหาฯจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ยึดหลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง เพื่อให้รัดกุมมากที่สุด ซึ่งกรอบนี้จะเป็นแนวทางที่จะสามารถอธิบายกับสังคมได้ ส่วนปัญหาต่างๆ ที่อาจจะตามมาเรื่องหลักเกณฑ์การสรรหาฯนั้น เป็นเรื่องของความคิดแต่ละคน ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการ แต่ส่วนตัวจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะทราบดีว่าการสรรหาฯทุกครั้ง จะต้องมีประเด็นข้อร้องเรียนตามมา ดังนั้นก็จะนำบทเรียนจากการสรรหาฯครั้งที่ผ่านๆ มาถอดบทเรียน และพยายามดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลง ก็ทำให้โปร่งใสมากที่สุด” นายธนูกล่าว