จากกรณีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้มีการจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นการสอบครั้งแรกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าสอบรวมทั้งสิ้น 42,474 คน และประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2567 ผลปรากฏว่ามีผู้ผ่าน 11,127 คน แต่ก็มีเรื่องราวที่เป็นประเด็นดรามา ติดแฮชแท็ก #ใบประกอบวิชาชีพครู หรือ ตั๋วครู ว่า การคิดคะแนน 60% ตามเกณฑ์คือสอบผ่าน แต่เหตุใดจึงมีผู้เข้าสอบที่ได้คะแนน 55 และ 57 สอบผ่านด้วย นั้น
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2567 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ในฐานะเลขานุการ คณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจัดแถลงข่าวร่วมกับ ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ประธานคณะจัดทำผังการสร้างแบบทดสอบ (Test Blueprint) ชี้แจงกรณีดราม่าการคิดคะแนนสอบเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพครู โดย ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า การจัดสอบครั้งนี้เราใช้ BluePrint หรือ พิมพ์เขียว เป็นข้อสอบตัวใหม่ที่เป็นข้อสอบวัดสมรรถนะโดยตรง ซึ่งก่อนจะทำข้อสอบคุรุสภาได้ประชาสัมพันธ์ไปยังมหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้น้อง ๆ ที่จบคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ได้รับทราบและได้เตรียมตัวสอบ เนื่องจากข้อสอบครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม จะเป็นข้อสอบฐานสมรรถนะ และจะเน้นวัดสถานการณ์ 100% ซึ่งการสอบครั้งนี้มีผู้สอบผ่านเพียง 22% จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อย อย่างไรก็ตามผู้เข้าสอบสามารถเข้ามาขอดูคะแนนตัวเองได้ในวันที่ 29 มกราคมนี้
รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร กล่าวว่า การทำแบบทดสอบดังกล่าวจะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันในคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ซึ่งจะยึดมาตรฐานวิชาชีพ วัดเฉพาะส่วนที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพ จะไม่เกี่ยวกับตัวที่เป็นสาระวิชาเอก ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพจะมีทั้งหมด 6 มาตรฐาน แยกภาษาไทย และภาษาอังกฤษออกไป ส่วนจรรยาบรรณวิชาชีพมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดูอยู่แล้ว จะวัดเฉพาะศาสตร์การสอนที่เกี่ยวกับเรื่องของจิตวิทยาหลักสูตรการสอนการวัดประเมินผล การใช้สื่อ การประกันคุณภาพ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการจัดการการศึกษาของประเทศของครูรุ่นใหม่ ที่จะต้องสามารถจัดการเรียนการสอน ที่เป็นฐานสมรรถนะ และตัวครูก็ต้องถูกวัดด้วยฐานสมรรถนะ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของการศึกษาของประเทศ ครูรุ่นใหม่จะต้องสามารถจัดการการเรียนการสอนที่เป็นฐานสมรรถนะ ที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องสะท้อนถึงศักยภาพของครู จะแสดงความสามารถในการออกแบบวิเคราะห์ วิธีการแก้ปัญหาต่างๆได้ ดังนั้นลักษณะของข้อสอบจึงเป็นแนวคิดในลักษณะสถานการณ์มาให้ ผู้เข้าสอบไม่เพียงจำความรู้ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องสามารถนำความรู้ไปวิเคราะห์ว่า ถ้าไปสอนโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนจำนวนน้อย เจอปัญหาครูจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร ดังนั้นลักษณะข้อสอบจึงเป็นข้อสอบเชิงวิเคราะห์ไม่เหมือนข้อสอบที่ต้องจำมาสอบ
“สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในวันนี้ เราต้องการครูที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาบอกวิธีแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้ผลดีที่สุดตามหลักวิชาชีพที่เรียนมา นี่คือเป้าหมายของการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพครูให้สามารถไปแก้ปัญหาเด็กที่อยู่ในชนบท ในเมือง เด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการวัดและการประเมินความสามารถของครูในครั้งนี้”รศ.ดร.มนตรี กล่าว
ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู กล่าวว่า ในการตัดสินผลการสอบที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ คณะกรรมการฯที่ทำผลการสอบเสนอกรรมการอำนวยการทดสอบฯพิจารณาโดยใช้หลักการเดิมที่เคยใช้มาแล้วหลายปี ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบแบบใหม่หรือแบบเก่า ก็ให้ตัดสินเกณฑ์ที่ 60% และให้คำนึงถึง สิ่งที่เรียกว่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการทดสอบเพราะข้อสอบแต่ละชุดจะมีคะแนนสูงสุด ต่ำสุด คะแนนเฉลี่ยไม่เท่ากันข้อสอบทุกชุดจะมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ยอมรับว่าในเรื่องของวิชาการจะไม่เป๊ะกันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ข้อสอบแต่ละชุดก็จะ มีความยากง่ายแตกต่างกันซึ่งเราเรียกว่า Standard Error of Measurement (SEM) ซึ่งค่า SEM ซึ่งทำให้การให้คะแนนมีความยืดหยุ่นอยู่ที่ 1-2 SEM หรือประมาณ 1-5 คะแนน และความยืดหยุ่นของข้อสอบแต่ละชุดก็ไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สอบผ่านจึงไม่ใช้ผู้ที่สอบได้60% เป๊ะเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้คะแนน 57% หรือ55% ก็สอบผ่านด้วย เพราะถือว่าคุณภาพใกล้เคียงกันเราก็ให้ผ่านและนี่คือความคลาดเคลื่อนของข้อสอบ อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจจะกำหนดเกณฑ์สอบผ่าน 60%เท่านั้น และให้ผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู Walk in เข้ามาสอบ สอบเสร็จรู้ผลทันที ถ้าสอบไม่ผ่านก็สามารถมาสอบใหม่ได้จนกว่าจะสอบผ่าน แต่ครั้งนี้เราเปลี่ยนแปลงโจทย์และเป็นข้อสอบ จึงต้องยอมรับความคลาดเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของผู้เข้าสอบ