เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้จัดพิธี งานวันครู ครั้งที่ 68 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” ซึ่งจัดทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ ในรูปแบบผสมผสาน ทั้ง Onsite และ Online โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการจัดงานวันครู พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดศธ.ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงศธ. ครูและบุคลากรทางการศธ. เข้าร่วมงาน
ในการนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 68 พ.ศ.2567 ความว่า ตนขอแสดงซึ่งมุติตาจิต ความระลึกถึง ความเคารพ ความกตัญญู และความปรารถนาดีมายังครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ครูในฐานะผู้ทำงานหนัก ผู้เปรียบประหนึ่งประติมากร สร้างบุคลากรที่มีคุณค่าให้แก่ประเทศชาติ วันครูจึงเป็นวันที่เราทุกคนจะต้องแสดงออกซึ่งความตั้งใจ ความตระหนักในบุญคุณแด่ครูทุกคนในชีวิตของพวกเรา รวมถึงทุกท่านที่ประกอบวิชาชีพครูในวันนี้ และร่วมกันเชิดชูเกียรติครูผู้มีคุณูปการสูงสุดต่อการศึกษาของชาติ โดยในปีพ.ศ.2547 ตนได้มอบคำขวัญว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์ สร้างสรรค์” เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเป็นครูไม่ใช่แค่การสอนหนังสือ ไม่ใช่แค่การให้ความรู้ตามตำรา แต่สิ่งที่ครูที่ดีควรให้กับนักเรียน คือ วิธีคิด และวิธีการจัดการกับชุดข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ใครก็ตามที่มีระเบียบวิธีคิดที่ดี เขาจะเติมโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณภาพ และครูยังต้องเป็นผู้สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดความสร้างสรรค์ ปลดปล่อยศักยภาพ เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาทักษะตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ จริยธรรม ศีลธรรมในโลกสากล รวมถึงการเป็นคนที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งหมดนี้คือ หัวใจของการพัฒนามนุษย์ เป็นงานของครู และคือหัวใจของคำว่า การศึกษา
เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 68 พ.ศ.2567 ตนขออวยพรให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ประสบแต่ความสุข มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อร่วมกันเป็นพลังเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนไทย เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศ และของโลกต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า งานวันครู เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาและจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นโอกาสให้พวกเราทุกคนได้รำลึกถึงพระคุณครู ความสำคัญของอาชีพครู และได้ทบทวนถึง ความท้าทายอันสำคัญของการเป็นครูในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลายท่านในที่นี้คงมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2022 ของนักเรียนทั่วโลก ซึ่งผลโดยรวมนั้นเป็นกราฟดิ่งลง ทาง OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา จึงได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้และพบว่าส่วนหนึ่งของปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้นักเรียนทั่วโลก มีผลการศึกษาโดยเฉลี่ย ต่ำลงนั้นไม่ใช่ความยากจนหรือความไม่พร้อมของครอบครัว แต่เป็นการถูกเบี่ยงเบนความสนใจ โดยอุปกรณ์การสื่อสารสมัยใหม่ และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองต่อการเรียนของเด็กที่ยังไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น เพียงแต่สองเรื่องนี้ก็เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ของบรรดาครูอาจารย์ เราจะยืนอยู่ตรงไหนในวันที่เด็กคิดว่า ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจ อยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนจนเขารู้สึกว่า ไม่ต้องฟังครูก็ได้และเด็กจำนวนมากนั้น เมื่ออยู่ที่บ้าน ก็ไม่มีใครคอยดูแลทั้งเรื่องระเบียบวินัย และฐานความคิด ในการที่จะอยู่ในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีค่านิยมที่เปลี่ยนไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า โลกยุคใหม่นี้ ก็มีสิ่งเร้ามากมาย ที่คอยแต่จะดึงเด็กแต่ละคน ให้ไปอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงที่ให้ผลในระยะสั้น หรือความเสี่ยง ที่อาจถึงขั้นทำให้เสียอนาคตในฐานะที่ตนเองก็ดูแลกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วยก็ต้องเรียนว่า ช่วงนี้มีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกหดหู่ใจบ่อยครั้ง เกี่ยวกับเยาวชนของเรา ซึ่งล่าสุดฝ่ายปกครอง ไปตรวจผับย่านปทุมธานี ก็พบเยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยหลายคนไปอยู่ในสถานที่ที่เขาไม่ควรอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เราจะพูดถึงการศึกษากันยังไงดี ถ้าแค่การดูแลเด็กให้ปลอดภัยยังทำให้เขาไม่ได้เต็มที่ แน่นอนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็ต้องดูแลการบังคับใช้กฎหมาย แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราสามารถสร้างเด็กให้มีภูมิคุ้มกัน มีฐานคิดที่แข็งแรงพอในโลกที่มีอันตรายมากกว่าเดิม วันนี้ต้องบอกว่าการสร้างฐานคิด คือบทบาทของครูในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งก็ตรงกับคำขวัญวันครู ที่นายกฯมอบไว้ ว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์” ซึ่งก็หมายความว่า ครูอาจไม่ได้เป็นผู้ป้อนข้อมูลให้ทุกอย่าง เพราะความรู้ใหม่ๆ นั้นก็หาเติมได้เองตลอดชีวิต แต่ครูจะต้องสามารถวางรากฐานทางความคิดให้แรงบันดาลใจ และให้วิธีการที่ลูกศิษย์จะสามารถ “ต่อยอด” ได้ต่อไป ซึ่งการ “วางฐานคิด” นี้ อาจจะพูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย เพราะการที่ใครสักคนจะวางฐานคิดให้เราได้ นอกจากเขาจะต้องมีภูมิความรู้แล้ว ก็ยังจะต้องสร้างความศรัทธาได้ด้วย จึงจะเกิดการฟัง การเชื่อ และเกิดการยอมรับกันได้จริงๆ ดังนั้นการเป็นครูที่น่าศรัทธา จึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้างและไม่มีวันจะล้าสมัย เราต้องสร้างศรัทธาเพื่อไปวางฐานคิดให้ศิษย์ของเราได้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าครูที่น่าศรัทธานั้นนอกจากจะต้องอยู่ในศีลธรรม จรรยาบรรณ และเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ในยุคนี้ ครูที่นี้ครูที่น่าศรัทธา สำหรับเด็ก จะต้องเป็นครูที่ไม่ตกยุค นั้นคือ ครูที่พร้อมจะเป็นผู้ฟังไม่ปฏิเสธที่จะรับฟังแนวคิดใหม่ๆ คือ ครูที่ไม่กลัวความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมต่างๆ ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นครูที่รู้เท่าทันความเป็นไปในโลก แต่ไม่ใช่ไหลไปตามกระแส ต้องรักษาสมดุลเหล่านี้ให้ได้ ตนขอยกตัวอย่าง ครูที่ประสบความท้าทายสูงมาในยุคนี้ คือ ครูภาษาไทย หลายคนก็เพิ่งได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่นไปด้วย ความท้าทายของครูภาษาไทยยังมีอีกมาก ทุกวันนี้เวลาอ่านหนังสือตามสื่อต่าง ๆ จะพบว่ามีการใช้ภาษาไทยผิดจำนวนมากจนน่าตกใจ ยิ่งไปกว่านั้นการพูดจาของผู้คน โดยเฉพาะในโซเชียลต่าง ๆก็มีจำนวนมากที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยก และไม่สร้างสรรค์ ไม่นับไปถึงการขาดความประณีตทางภาษา หลายสิ่งเป็นการใช้ภาษาไทยในทางบ่อนทำลาย หรือเชิงทะเลาะกัน ยิ่งไปกว่านั้น ผลการทดสอบทักษะการอ่านของเด็กไทย ก็ตกต่ำลง ทำให้ผลการทดสอบอื่น ๆ ต่ำลงไปด้วย เพราะถ้าอ่านไม่ดี เข้าใจภาษาของเราไม่ดี ก็ไม่สามารถแปลความหมายที่สำคัญของวัตถุประสงค์ที่จะถ่ายทอดไปสู่เยาวชนได้ ในบริบทเหล่านี้ที่นักการศึกษา และครู ทั้งหลายจะต้องช่วยกันคิดว่า จะแก้วิกฤตกันอย่างไร ต้องทำอย่างไรในการวางฐานความคิดให้นักเรียนเห็นความสำคัญของภาษา และการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ครูกับเด็กต้องไม่แตกแยกเหมือนอยู่คนละโลก อาจต้องมีสื่อการสอนที่เป็นสื่อออนไลน์จากชีวิตจริงทั้งข่าวออนไลน์หรือบทสนทนาทางโซเชียลมีเดียที่ใกล้ตัว มาฝึกอ่านฝึกเขียน วิเคราะห์ วิจารณ์แสดงความคิดเห็นระหว่างกัน
ครูต้องมีความทันโลก ทันสมัย และต้องทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของภาษาไทยไปด้วย โดยต้องคิดถึงปลายทางในใจคือ เราจะต้องสร้างคนที่สื่อสารภาษาไทยได้ดี ซึ่งตนคิดว่าครูหลายคน ก็อาจจะทำอยู่แล้ว ขอเป็นกำลังใจหวังว่าจะสามารถต่อยอดความคิดกันไป จนสามารถทำให้ศักยภาพของเยาวชนเราถูกยกระดับขึ้น เกิดผลดีต่อการเรียนวิชาต่างๆ ของนักเรียน และเป็น “ทักษะชีวิต” ที่สำคัญสำหรับอนาคตของเด็กๆ อย่างไรก็ตามในความที่เป็นศิษย์คนหนึ่งที่เติบโตมามีวันนี้ได้ นอกจากบิดา มารดา ก็มีครู อาจารย์ ที่ได้บ่มเพาะสั่งสอนให้ตนได้มีโอกาสมาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองตามความตั้งใจ ตนมั่นใจเหลือเกินว่า ครูที่ประสิทธิ์ประสาทให้ตนแม้ว่าจะได้เกรดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็เป็นกรอบแนวทางที่ทำให้นักเรียนอย่างตนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และหวังว่าจะสร้างประโยชน์ให้บ้านเมืองได้
“ในสมัยที่ผมเป็นนักเรียน จะรู้สึกว่าวันครู เป็นวันสำคัญ หวังว่าประเพณีดั้งเดิมจะได้รับการสืบทอดต่อไป มีพิธีไหว้ครู มีบทเพลงที่ปลูกฝังให้รำลึกถึงพระคุณครู เพราะฉะนั้นในทุกๆ บริบทของการปลูกฝังนักเรียนตั้งแต่เด็ก จะมีคำว่า บิดามารดา สถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศ และตัวเราเอง ครบองค์ประกอบในการปลูกฝังเยาวชนให้สืบทอดประเพณีวัฒนาธรรมดีๆ การได้แสดงมุทิตาจิตเหล่านั้น จะทำให้จิตใจละมุนลง เกิดการสำนึก คำว่าศิษย์มีครู ทั้งนี้ผมได้มอบนโยบายกว้าง ๆ ให้กับรัฐมนตรีว่าการศธ. ได้นำไปดูว่า จะทำอย่างไรจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เด็กและเยาวชนได้มากที่สุด เพราะเราเป็นประเทศไทยต้องมีเอกลักษณ์ แม้จะบอกว่า วันนี้โลกไร้พรมแดนแล้ว แต่การที่จะทำให้เรายืนท่ามกลางเวทีโลกได้ นั่นคือเราต้องมีเอกลักษณ์เป็นต้องเราเอง มีความภาคภูมิใจ มีประวัติศาสตร์มีวัฒนธรรมที่ดี ที่จะสามารถทำให้เห็นว่า เราก็มีรากเหง้า มีพ่อแม่ มีครูอาจารย์ที่ทำให้เราสามารถเจรจาทำสัญญากับนานาอารยประเทศได้ เชื่อว่าไม่เกิดความสามารถของครูทุกคน ”นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ. เพิ่มพูน กล่าวว่า การเป็นครูในยุคการศึกษาดิจิทัลนั้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของตัวเองในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจและแก้ปัญหา และมีความสุขกับการเรียนด้วย ดังนโยบายเรียนดี มีความสุข ที่สำคัญเราไม่สามารถทราบได้ว่าสื่อออนไลน์ที่ผู้เรียนศึกษามานั้นจะถูกต้องและสร้างสรรค์ ดังนั้นบทบาทของการเป็นครู จึงต้องสร้างแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยี เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะได้เข้าใจและทบทวน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สำหรับการสร้างอนาคตของผู้เรียนต่อไป
“ที่สำคัญในวันครูปีนี้ ศธ.ได้เตรียมของขวัญวันครู เพื่อที่จะมอบให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับหลักเกณฑ์และย้ายครูคืนถิ่น, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System:TMS) หลักสูตร E-learning 2 หลักสูตร, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดเต็ม 8 หลักสูตร “เติมความรู้ ครูยุคใหม่ ก้าวไปด้วยกัน” ให้ครูโรงเรียนเอกชน เรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime”, สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมมือกับภาคเอกชน จัดอบรมหลักสูตร AIS academy ฟรีค่าลงทะเบียน 3,750 บาท และ หลักสูตรความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ต และการจัดการ Google Workspace Admin ฟรีค่าลงทะเบียน 2,500 บาท และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาธิการ(สกสค.) โครงการ “โลกสวย ตาใส ข้าราชการครูไทยไร้ต้อกระจก” การตรวจคัดกรอง โรคต้อกระจกตาฟรีเป็นต้น
หลังจากนั้น นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาหนี้สินครูซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ครูต้องการให้ช่วยลดภาระครู ว่า ในรายละเอียดต้องไปดูว่าหนี้สินนั้นมาจากอะไร ถ้าจะปรับโครงสร้างหนี้ก็ต้องดูที่มาที่ไปของหนี้ และ ความสามารถในการชำระหนี้ของครูด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับโจทย์ไปแล้ว และ พยายามทำให้ภาระทางการเงินของครูและของนักเรียนน้อยที่สุด
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครูเป็นเรื่องหนึ่งที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้มีความคืบหน้าพอสมควร โดยการประชุมคณะกรรมการล่าสุดที่ประชุมได้กำหนดกรอบในการดำเนินการ 4 กรอบทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยกรอบการดำเนินการเชิงรับจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ของครูที่มีอยู่ การลดดอกเบี้ยเพื่อให้ครูมีศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ การช่วยเหลือครูที่อยู่ในช่วงกำลังจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ส่วนกรอบการดำเนินการเชิงรุก คือ การให้องค์ความรู้เชิงวิชาการเพื่อให้ครูมีภูมิคุ้มกันในการบริหารเงินของตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นหนี้ในอนาคต ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนัดต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์นี้
“ในกรอบการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้ง 4 กรอบนี้ มีการดำเนินการในการจัดทำ MOU ร่วมกันกับสถาบันการเงิน สหกรณ์ หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นได้มีการประสานกับสถาบันการเงินให้ชะลอเรื่องการดำเนินคดีกรณีครูที่อยู่ในกรอบที่จะถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นกลุ่มสีแดงจำนวนหมื่นกว่าคน จากจำนวนครูที่เป็นหนี้กว่า 9 แสนคนแล้ว”ปลัด ศธ.กล่าวและว่า สำหรับกรณีการลดดอกเบี้ยขณะนี้อยู่ระหว่างที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานไปยังสถาบันการเงิน ส่วนจะได้ในอัตราเท่าไหร่ยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้แต่มั่นใจว่าจะอยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกศธ.กล่าวว่า นโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา(Anywhere Anytime)มีระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยนโยบาย 1 ครู 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต นั้น ขณะนี้ ศธ.กำลังดำเนินการทำคอนเทนต์และแพลตฟอร์มให้แล้วเสร็จก่อน ดำเนินการจัดหาแท็บเล็ต หรือ โน๊ตบุ๊ค ซึ่งคาดว่าครูจะได้อุปกรณ์ช่วยสอนในปีงบประมาณ 2568 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ กำลังดำเนินการแก้ปัญหาการศึกษาและลดภาระครู เช่น การคืนนักการภารโรงสู่โรงเรียนกว่า 12,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ครูมีเวลาสอนในห้องเรียนมากขึ้น การใช้ครูธุรการร่วมกันในโรงเรียนเล็กๆ เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนที่ไม่มีครูธุรการ ซึ่ง สพฐ.กำลังขอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ออกมติครม.ถ้าครม.เห็นชอบก็จะจัดงบประมาณกลางมาให้ปี2567
ในการนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้ทำพิธีคารวะครูอาวุโส ของรัฐมนตรีว่าการศธ. คือ นางอรพรรณ หนูราช ซึ่งเป็นครูประจำชั้นของรัฐมนตรีว่าการศธ. ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และมอบของที่ระลึกแก่ครูอาวุโสของรัฐมนตรีว่าการศธ.
โดยนางอรพรรณ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นครูประจำชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 จะใกล้ชิดกับนักเรียน พล.ต.อ.เพิ่มพูน จะเป็นเด็กตัวเล็กๆ เสียงดัง และจะเล่นซนตามประสาเด็ก แต่เวลาเรียนจะตั้งใจเรียนมาก ส่งงานทุกครั้งไม่มีการให้ครูจะต้องทวงถาม เป็นเด็กที่มีความประพฤติดี ไม่เคยผิดวินัยของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย หรือเรื่องอื่นๆ พล.ต.อ.เพิ่มพูน จะอยู่ในระเบียบวินัยตลอดไม่มีปัญหาใด ๆ รวมถึงยังเป็นคนที่มีนิสัยล่าเริง มีเพื่อนมากและมีแววการเป็นผู้นำตั้งแต่เด็ก
“เมื่อทราบว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน มาเป็นรัฐมนตรีว่าการศธ. ก็รู้สึกปลื้มและภูมิใจที่ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และรู้สึกยินดีที่ลูกศิษย์มาถึงจุดนี้ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในการทำหน้าที่รับผิดชอบ ด้านการจัดการศึกษาของประเทศชาติ เชื่อว่า ลูกศิษย์คนนี้จะทำได้ดี เพราะพล.ต.อ.เพิ่มพูน เป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียร มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ครูเคยให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการศธ. ว่า การทำงานทุกๆ อย่างต้องมีอุปสรรค ก็ขอให้อย่าท้อถอย ฝ่าฟันไปให้ได้ และข้อสำคัญต้องดูแลสุขภาพด้วย เพื่อจะได้มีพลังกาย พลังใจ ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด” นางอรพรรณ กล่าวและว่า รู้สึกดีใจมาก ที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ไม่ลืมครู แต่ปกติถ้ามีโอกาสวาระพิเศษ รัฐมนตรีว่าการศธ. และเพื่อน ๆ ก็จะมาพบครู ระลึกถึงครูอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือเพื่อน ช่วยเหลือโรงเรียนและถ้ามีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ โดยได้รับการยกย่องจากเพื่อนๆ ให้เป็นประธานรุ่น เป็นผู้นำรุ่นในการทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนและสังคม”ครูอรพรรณ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภายังได้จัดนิทรรศการวิชาการออนไลน์ และการอบรมผ่านหลักสูตรออนไลน์ ตลอดจนเปิดให้ส่งบัตรคารวะครูออนไลน์ ตักบาตรออนไลน์ โดยเฉพาะก่อนงานวันครูที่มีการเสวนาวิชาการ Online ผ่าน Platform มีข้อหัวที่น่าสนใจมาก และครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนั้นครูและผู้สนใจสามารถย้อนกลับไปดูการเสวนาออนไลน์ได้ที่ wankru.ksp.or.th และยังมีกิจกรรมหลังงานวันครู ระหว่างวันที่ 17 ม.ค. – 30 เม.ย. 2567 มีการอบรมหลักสูตร Online เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะทางวิชาชีพให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ขอย้ำผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับเกียรติบัตรออนไลน์ตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงรับชมนิทรรศการผลงานออนไลน์ของผู้ที่ได้รับรางวัลของคุรุสภา ผู้สนใจดูรายละเอียดการจัดงานวันครูได้ที่เว็บไซต์ของคุรุสภา http://wankru.ksp.or.th รวมถึงร่วมดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์ “Teachers’ Day” ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันครูเพื่อนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในพระบรมราชูปถัมภ์ และร่วมระลึกถึงพระคุณครู และแชร์ความรู้สึกดี ๆต่อครูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของคุรุสภาhttps://padlet.com/napashbie/16-n2ljziywlcy1s1ma