เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้ลงตรวจเยี่ยมติดตามและมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของสพฐ.และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศทั้ง 245 เขตพื้นที่การศึกษาผ่าน youtube obec channel ว่า สิ่งที่อยากมาเน้นย้ำในวันนี้ คือ 3 ทอ คือ ทำดี ทำได้ ทำทันที เรื่องใดที่ดีมีประโยชน์ก็อยากให้ทำทันที รวมถึงการให้ข้อแนะนำต่าง ๆ เพราะตนเชื่อว่า ความคิดและข้อแนะนำต่าง ๆ จากทุกคนจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา รวมถึงข้อเน้นย้ำนโยบาย เรียนดี มีความสุข ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหมายถึงการทำอะไรสักอย่างขอให้มีความสุขที่จะทำ ถ้าไม่มีความสุข ขอให้บอก จะได้จัดสรรให้อยู่ในที่ที่มีความสุข มีความอยากที่จะทำ ทั้งนี้เชื่อว่า ถ้าทุกคนมีความสุข จะส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้น
“ขอให้ทุกคนช่วยกันดำเนินการตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ซึ่ง สพฐ.เป็นองค์กรใหญ่ นโยบายการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ที่ สพฐ. กระแสสังคมจะเป็นอย่างไรก็ตามอย่าไปหวั่นไหว เพียงแต่ต้องรับฟัง และนำมาเป็นแนวทางปรับปรุง ระมัดระวัง การทำงาน เชื่อว่า หากพวกเราช่วยกันทำงานอย่างเต็มความสามารถ การศึกษาของเราคงจะมีการพัฒนาดีขึ้น ที่สำคัญตอนนี้คือโจทย์ที่จะต้องดำเนินการคือ ทำอย่างไรจะให้ เด็กนักเรียน และเยาวชนโตขึ้นไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศไทย ทำอย่างไรให้นักเรียนอยากมาเรียน อยากมาโรงเรียน”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า นโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คือช่วยกันค้นหาเด็กที่หลุดออกนอกระบบที่ไม่ได้เรียนให้กลับเข้ามาเรียน ทำอย่างไรให้นักเรียนผ่านการศึกษาภาคบังคับกันทุกคน ตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก ซึ่งคงต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหา เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ที่เด็กออกนอกระบบการศึกษา ก็คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ดังนั้นคงต้องหาวิธีการ ซึ่งในส่วน ศธ. เองพยายามตอบโจทย์นี้โดยจัดทำแพลตฟอร์ม any where any time เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา แต่เมื่อระบบยังไม่พร้อมก็ขอความร่วมมือ ช่วยค้นหาเด็กให้กลับมาเรียน ซึ่งเรื่องนี้ รวมถึงการช่วยเหลือเด็กพิเศษต่าง ๆ ด้วย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ทั้งนี้ สพฐ.ได้นำเสนอการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า มีเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรี เป็นที่น่าชื่นชม เช่น การลดภาระครู ที่มีการเพิ่มคะแนนครูคืนถิ่น และมีการปรับลดการดำเนินการต่าง ๆ ในการประเมิน หรือ เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่มีการใช้ธุรการร่วมหรือทางเขตพื้นที่การศึกษาเข้าไปสนับสนุนการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการติดตามการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV โดยจะมีการจัดประกวดโรงเรียน The Best of The Best 183 โรงเรียนที่จะเป็นโรงเรียนต้นแบบในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนผ่าน DLTV ซึ่ง DLTV เป็นการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งสามารถช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือโรงเรียนห่างไกล หรือ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จทั้ง 100% ซึ่ง รัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จะมาติดตามการดำเนินการ เพื่อมาประชุมปรับปรุงให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันมากขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในการประชุมตนได้มีการกำชับเรื่องการป้องกันการทุจริต ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. และผู้บริหารก็ให้ความสำคัญ เช่น กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ได้มอบหมายให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.ไปติดตามในพื้นที่ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบโรงเรียนการศึกษาพิเศษมีอยู่มากมายและมีข้อจำกัดเยอะมาก ซึ่งจากที่ได้รับฟังรายงานแล้วยอมรับว่า เป็นความเหนื่อยยากของครูและผู้บริหารโรงเรียนในการที่จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ได้ขอใช้เวทีการประชุมวันนี้ส่งกำลังใจไปถึงครูและผู้บริหารการศึกษาพิเศษทุกโรงเรียน ที่อาจจะเสียกำลังใจหรือท้อใจเวลาโรงเรียนในกลุ่มการศึกษาพิเศษเกิดปัญหา ซึ่งอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันก็ได้ เพราะฉะนั้นขอให้รอดูข้อเท็จจริงก่อนแล้วมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามถึงการประเมินรูปแบบใหม่ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การประเมินรูปแบบใหม่ คือ การ ให้ผู้รับการประเมินเป็นคนบอกเองว่า ทำอะไรได้ขนาดไหน เพราะเราต้องยอมรับว่าทรัพยากรไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณ บุคลากร สถานที่ หรือสิ่งต่าง ๆ แต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ซึ่งแต่ละคนจะรู้ตัวว่ามีศักยภาพขนาดไหน ทำอะไรได้บ้าง บางที่อาจจะไม่มีอะไรเลย เช่น พื้นที่ห่างไกล มีทรัพยากรน้อย ผู้มีจิตศรัทธาที่จะสนับสนุนก็น้อย ซึ่งเท่ากับเริ่มจากศูนย์ ถ้าสามารถทำได้ถึง 3 ก็จะได้เพิ่ม 3 แต้ม แต่บางพื้นที่อย่าง กทม.มีครบหมดแล้วทำนิดหน่อยก็เสมอตัว ดังนั้นการประเมินแบบใหม่ก็จะให้ตัวเองบอกเองว่าจะทำอะไรแค่ไหนแล้วมาประเมินผล
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวด้วยว่า สำหรับแพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อสนองนโยบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งมีความก้าวหน้าพอสมควร ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับระบบสอบเทียบ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ทุกคนจะสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดย สพฐ.จะทำร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้( สกร.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)จะเป็นตัวหลักในการประเมิน ซึ่งจะสามารถนำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเข้ามาเรียนได้