เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2567 ดร.วีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.)เปิดเผยว่า ส.ค.ท.และองค์กรเครือข่าย 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ 16 จังหวัด ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ชมรมครูภาคกลาง 27 จังหวัดและ สมาพันธ์ครูภาคใต้ 14 จังหวัด ในฐานะองค์กรพัฒนาวิชาชีพครูและสังคม ซึ่งมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ได้จัดเวทีเสวนาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ ห้อง 607 อาคารรัฐสภา เพื่อหาทางออกในการแก้วิกฤตการศึกษาของชาติ ภายใต้หัวข้อ “ 99 ขุนพลปฏิวัติการศึกษาไทย : ผ่าวิกฤติการศึกษาไทย” ทั้งนี้ ส.ค.ท.และองค์กรเครือข่ายฯได้นำมติที่ประชุมในเวทีเสวนา เสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยผ่านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน 2558 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ที่ 17/2560 เรื่องแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติที่ 7/2558 ทั้งนี้ให้รัฐบาลดำเนินการตามหนังสือที่ นร 0401. 7/1 1372 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566เรื่อง การยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 7/2558และฉบับที่ 17 /2560 โดยด่วน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ครูไทยทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันครูประจำปี 2567 โดยให้นำ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546 กลับมาใช้เป็นปกติ ซึ่งจะมีสัดส่วนของผู้แทนครูองค์กรต่าง ๆ เข้ามาเป็นกรรมการ
2.ให้รัฐบาลดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนเคยเสนอให้มีการพิจารณาในรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภามิได้ให้ความเห็นชอบ การร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น 3. การปฏิวัติการศึกษาไทย 3.1. ด้านคุณภาพผู้เรียน – ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ทั่วถึง – มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และทักษะของพลโลก ในศตวรรษที่ 21 3.2. ด้านสถานศึกษา – กระจายอำนาจให้สถานศึกษาโดยยกฐานะให้เป็นนิติบุคคล อย่างสมบูรณ์แบบ – สร้างความเข้มแข็งให้กับทุกโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก
3.3. ด้านกฎหมาย -ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฉบับ- ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ฉุดรั้งการพัฒนาผู้เรียน 3.4. ด้านโครงสร้าง- ลดจำนวนหน่วยงานที่อยู่เหนือสถานศึกษาให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อ ลดภาระงาน สายบังคับบัญชา ให้สถานศึกษาจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.5. ด้านวิชาชีพครู – ดำรงไว้ซึ่งวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง มีสภาวิชาชีพ มีมาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูง – ปลูกฝังอุดมการณ์ จิตวิญญาณของความเป็นครู 3.6. ด้านงบประมาณ – จัดสรรงบประมาณให้กับทุกโรงเรียนอย่างเพียงพอ เป็นธรรมและทั่วถึง – จัดสรรงบประมาณพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะการสอนในศตวรรษที่ 21 3.7. ด้านอื่นๆ – จัดสรร นักการภารโรง เจ้าหน้าที่ธุรการ ให้ครบทุกโรงเรียน – ยกสถานะของครูอัตราจ้างและพนักงานราชการ ให้มีความมั่นคงในวิชาชีพ
ผศ.ดร.อมลวรรณ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า สำนักงานคุรุสภา กำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งมีหลายฉบับที่เราจะต้องดำเนินการแก้ไข ไม่อยากทำหลายขยัก ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ชี้แจงไปแล้ว การยกเลิกกฎหมายใด ๆ ในพ.ร.บ.สภาครูฯจึงอยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขเสร็จสิ้นก่อน อย่างไรก็ตาม ทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความจำเป็นเหมาะสมของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับต่าง ๆ ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน ซึ่งรวมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 และคำสั่ง คสช.ที่ 17/2560 ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา