เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ สพฐ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี และได้ร่วมประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสามจังหวัดที่ประสบเหตุ เพื่อรับฟังรายงานผลกระทบ ความเสียหายและข้อคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)นราธิวาส เขต 1 อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ในโอกาสนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานในการประชุม และมอบนโยบาย ผ่านระบบการประชุมทางไกล ZOOM Meeting โดย พล.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความห่วงใยสถานศึกษา รวมถึงนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากสถานศึกษาในพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือ กระทรวงศึกษาธิการพร้อมสนับสนุนในทุกเรื่องที่สามารถทำได้ พร้อมกันนี้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงรวบรวมข้อมูลย้อนหลังในพื้นที่ ซึ่งเกิดเหตุอุทกภัยมาทุกปี เพื่อนำมาเป็นบทเรียนหาแนวทางป้องกัน หากเกิดเหตุอีกจะสามารถป้องกันบรรเทาได้อย่างไร พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) หรือ การทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกัน
“ส่วนในระยะยาวนั้น ขอให้จัดทำแผนป้องกันหรือแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้พ้นภัยที่จะเกิดขึ้นหรือช่วยให้บรรเทาเบาบางลง พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจกันดูแลช่วยเหลือสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในพื้นที่” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จากการที่ สพฐ. ได้เฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย ภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ถึง วันที่ 5 มกราคม 2567 พบว่า มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 914 แห่ง ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 12 เขต มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบภัย จำนวน 5,228 ราย และมีนักเรียนที่ประสบภัย จำนวน 43,275 ราย ในเบื้องต้นได้ให้เขตพื้นที่ฯ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับความช่วยเหลือ พร้อมทั้งสำรวจนักเรียนและบุคลากรที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือ และสำรวจความเสียหายของพัสดุครุภัณฑ์ สิ่งของต่างๆ ภายในโรงเรียน เพื่อดำเนินการของบประมาณซ่อมแซมหรือปรับปรุงต่อไป
“ขอให้มั่นใจว่า สพฐ. พร้อมดูแลช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียนและครู ที่ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดการเรียนการสอนหรือให้กลับมาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว เพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องของเด็กทุกคนในพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว