เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024 และการแถลงผลงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 3 เดือน  โดย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัด ให้การต้อนรับ

นายอนุทิน กล่าวว่า  ศธ.และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาตนติดตามและเห็นข้อมูลมาตลอดว่า การศึกษาไทยรั้งท้าย ซึ่งก็ต้องถามกลับไปว่า เอาเกณฑ์อะไรมาวัด ตนเชื่อว่า ความสำเร็จทุกอย่างอยู่ที่ความมุ่งมั่น ยกตัวอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง เกิดที่จังหวัดสงขลา ได้เรียนหนังสือเช่นเดียวกันทุกคน แต่มีความมุ่งมั่น จนเป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกฯ เป็นประธานองคมนตรี  หากย้อนกลับไปมอง จะเห็นว่า ตนโชคดีกว่า พลเอกเปรม เพราะเกิดในที่ที่มีทุกอย่างค่อนข้างจะพร้อม เชื่อว่า ในที่นี้มีหลายคนเกิดต่างจังหวัด ได้เรียนหนังสือเหมือนนักเรียนทั่วไปแต่ก็พัฒนาได้ ทั้งหมดอยู่ที่ความมุ่งมั่น อย่าดูว่าเขาวัดอะไรอย่างเดียว แต่ต้องดูว่า เราปลูกฝังอะไรให้กับนักเรียน

“ผมเห็นนักเรียนที่มาแสดงเปิดงานในวันนี้ รู้ได้ทันทีว่า ทั้งหมดนี้ คือ ซอฟท์พาวเวอร์ เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรม มีการออกกำลังกาย มีการยืดตัว มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่น ตรงนี้แหละคือ ซอฟท์พาวเวอร์ เพราะมีทั้งความซอฟท์ และมีพาวเวอร์ คือมีพลัง ดังนั้นขอให้พัฒนาต่อเนื่อง ทิ้งไม่ได้ ระบบการศึกษาก็เช่นกันอยู่ที่ว่า เราปลูกฝังให้คนเป็นคนดีแค่ไหน ทุกวันนี้เด็กสามารถเรียนรู้ได้โดยง่าย ผ่านโซเชียลมิเดียต่าง ๆ โลกมีความเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นครูต้องปรับตัวเอง จะให้เด็กเด็กกลัวครู เหมือนเมื่อก่อนคงไม่ได้ แต่ก็ต้องให้เด็กเกรงครู จะมาลบหลู่ดูหมิ่นครู อาจารย์ไม่ได้ ความกลัวครูตั้งแต่เด็กทำให้พวกเรามีวันนี้ได้ ทุกวันนี้ผมยังฝันว่า กลัวครูอยู่เลย เพราะความกลัว จะทำให้เกิดความพยายาม และทำทุกอย่างให้ดีขึ้น” นายอนุทิน กล่าวและว่า ซอฟท์พาวเวอร์ ศธ. มีดีอยู่แล้ว แต่การศึกษาอาจจะต้องเน้นการเข้าถึงให้มากขึ้น ปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น สามารถเรียนรู้ได้ผ่านทางออนไลน์ ผลงาน 3 เดือนของ ศธ. ที่ผ่านมา ก็มีให้เห็นชัดเจน เช่น ใครที่มีความรู้ ความสามารถ มีสกิล ทักษะความชำนาญ มีพรสวรรค์ แต่ไม่ชอบเรียน ขาดใบวุฒิบัตร ก็เปิดให้เทียบวุฒิการศึกษาได้

รองนายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นองคาพยพเดียวกัน ที่ตนพูดแบบนี้ เพราะอยากปลุกระดม วันนี้การศึกษาทัวร์ลงทั้งระบบ การศึกษารั้งท้าย ผลประเมินตกต่ำ ก็ต้องปรับปรุงทำให้คนเห็น ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรที่เด็กไทยทำไม่ได้ แข่งคณิตศาสตร์ วงโยธวาทิตก็คว้าแชมป์มาแล้ว ประกวดนางงามก็ติดอันดับ เด็กเหล่านี้ก็เรียนอยู่ที่ประเทศไทย ไม่ได้ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น อยากขอให้คนไทยช่วยกัน ต้องทำให้เด็กใฝ่ดี เด็กวัยนี้ใส่อะไรเข้าไปเขาก็ซึมซับ ดังนั้นต้องใส่ความมุ่งมั่น เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น โดยพยายามทำให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบ ไม่นอกกรอบเป็น ซอฟท์พาวเวอร์ด้านการศึกษา โดยสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป คือ ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งเด็กของเรายังขาดเรื่องนี้ อาจเพราะเด็กรุ่นนี้ไม่ได้ดูโทรทัศน์ช่องไทย เหมือนสมัยก่อนที่จะมีพระราชกรณียกิจ ของในหลวงรัชกาลที่9 ซึ่งปลูกฝังให้เราภาคภูมิใจในประเทศไทย ทำให้เรารักประเทศไทย และเห็นว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ บรรพบุรุษต้องทุ่มเทเสียสละขนาดไหน วันนี้เราสู้กันด้วยสงครามเศรษฐกิจ ไม่ได้เสียเลือดเสียเนื้อเหมือนในอดีต ดังนั้นต้องหวงแหนประเทศไทย ทุกคนใน ศธ.เป็นนักการศึกษาโดยตรง ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ มอบโอกาส แรงบันดาลใจ และส่งเสริมพวกเขาเหล่านั้นให้มากที่สุด  ขาดตรงไหนตามคำวิจารณ์ก็ต้องเติม แต่ไม่ใช่ว่า เราไม่มีอะไรเลย ตนไม่เชื่อว่าเราไม่มีพื้นฐาน ล้าหลังไม่มีทางพัฒนาการศึกษาไปได้ ขอให้กำลังใจอย่าได้ท้อถอย พัฒนาระบบการศึกษาของประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในกรอบของประเทศไทย ทิ้งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความภาคภูมิใจในบ้านเมือง เมืองไทยเราสำคัญมาก เพราะทุกคนมีครู มีความยำเกรง มีวิชา สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังในเด็ก เชื่อว่า เราไม่แพ้ใครในโลก ขอมอบเป็นนโยยบายให้ปฏิบัติ และพร้อมสนับสนุน100%

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาศธ.ได้มีการพัฒนาหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีการหยุดนิ่ง และพยายามหมุนไปตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก การจัดงานวันนี้ เพื่อให้กำลังใจและทำให้เด็กทราบว่า เขามีทางเลือกในอนาคตอย่างไร การศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว มีวิธีการแสวงหาความรู้ในหลายช่องทาง ขณะเดียวกันยังพยายามให้เด็กๆ ได้เห็นว่า ถ้ามีความสามารถพิเศษ แต่อาจไม่ชอบเรียนวิชาการ ก็ยังมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเทียบวุฒิรับรองความสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ยืนยันว่า การศึกษาของไทยไม่ได้ด้อยกว่าใคร โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ทราบอยู่แล้วว่าภารกิจงานของศธ. เป็นพื้นฐานหลักที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจะต้องทำงานให้หนักมากขึ้น ซึ่งตนได้แจ้งให้ผู้บริหารศธ.พยายามออกมาประชาสัมพันธ์งานให้ประชาชนรับทราบ รวมถึงรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรับ ส่วนเรื่องหนี้สินครู ก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่ รัฐบาลกำลังจะมีวิธีการแก้ไข ซึ่งครูก็มีหนี้นอกระบบจำนวนมาก ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะเป็นเรื่องดี อย่างพวกส่งดอกทบต้น เสียดอกร้อยละ20 ซึ่งครูถือเป็นอาชีพที่มีรายได้ประจำก็ต้องดูว่า เขามีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าอยู่ในเรื่องที่รัฐบาลพยายามเร่งจะแก้ไข

“ขอย้ำว่า ศธ.จะต้องเร่งให้ความรู้กับนักเรียน ปลูกฝังให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน เพื่อเตือนตัวเองว่า ประเทศมีความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ได้เพราะมี 4 สถาบันหลักค้ำจุน รวมถึงจะต้องปลูกฝังขนบธรรมเนียมให้เด็กไทย ส่วนที่จะมีการปรับปรุงเครื่องแบบลูกเสือนั้น ส่วนตัวคิดว่า การสวมเครื่องแบบทำให้เกิดความเท่าเทียม และมีความสวยงาม ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามีสถาบันมีต้นสังกัด ” นายอนุทิน กล่าว

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า งาน EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024 และการแถลงผลงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 3 เดือน นี้ จัดระหว่างวันที่ 25 – 27 ธันวาคม 2566 ณ บริเวณกระทรวงศึกษาธิการและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะนำเสนอการขับเคลื่อนให้เห็นถึงภาพรวมความก้าวหน้าของ ศธ.ที่ร่วมใจนำยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติสู่การปฎิบัติระดับกระทรวง เพราะ ศธ.ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญต่อการสร้างซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศไทยที่สามารถทำให้เราเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ ศธ.ต้องการใช้โอกาสนี้เพื่อสื่อสารกับสังคมว่า เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงซอฟพาวเวอร์ด้านการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรมด้วยการ ช่วยกันนำเสนอผลงานตามแนวคิดซอฟพาวเวอร์ 5 F ในการจัดงานในครั้งนี้คือ Food Fashion Film Fighting และ Festival ท่ามกลางบรรยากาศที่สอดรับกับเทศกาลของขวัญปีใหม่ทั้ง ช็อป ชิม โชว์ แชร์ ด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง การแสดงของนักเรียนนักศึกษา ผลงานกว่า 100 บูธ ทำให้เห็นความสามารถของเด็ก ๆ รวมทั้งคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติ คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาไทย

สำหรับผลการดำเนินงานตามนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 3 เดือน มีดังนี้

  1. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมีหน่วยงานในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ โดยให้สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่การศึกษาสำรวจสภาพหนี้ครูและจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน จัดทำหลักสูตรเสริมสร้างวินัยทางการเงินในรูปแบบ e-Learning และอนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 200,000,000 บาท เพื่อช่วยบรรเทาภาวะหนี้สินของข้าราชการครู ให้สามารถนำไปชำระหนี้ ซึ่งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน อันจะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
  1. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจจำนวนสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการเรียนรู้ซึ่งปัจจุบันมีสื่อ 117,852 สื่อ เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินการจัดเสริมความรู้คู่บทเรียนด้วยวิทยากรออนไลน์ในการเตรียมนักเรียน ให้พร้อมสำหรับการสอบ TGAT TPAT และ A-Level ตลอดเดือนธันวาคม 2566 – มีนาคม 2567 รวมทั้งในช่วงเดือนมกราคม 2567 ได้จัดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ ตามกรอบมาตรฐาน CEFR ให้แก่นักเรียนผ่านแพลตฟอร์มฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CEFR) และหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะดิจิทัล ในรูปแบบ e-Learning เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
  1. พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาครูแนะแนวแกนนำและการ Coaching ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นประโยชน์กับการแนะแนวนักเรียนในปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูม และการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้านให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่ดี และมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีในทุกช่วงวัย
  1. จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพในการประกอบอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการได้หารือร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเกี่ยวกับการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้มีคุณวุฒิวิชาชีพ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ Up-skill Re-Skill 1 หลักสูตร : 1 Certificate และประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ (ปวพ.) 5 สาขาอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม
  1. จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแนวทางการสะสมหน่วยการเรียนรู้และการเทียบโอนผลการเรียนจากโรงเรียนนอกระบบสู่โรงเรียนในระบบ ดำเนินการยก (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. และจัดทำ (ร่าง) คู่มือแนวทางการดำเนินงาน ทบทวนระเบียบ ประกาศ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  1. 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายรวม 1,808 แห่ง เป็น โรงเรียนระดับประถมศึกษา 901 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 907 แห่ง โดยจะประกาศรายชื่อโรงเรียนคุณภาพ พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ และจัดประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการร ภายในเดือนธันวาคม 2566
  1. มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเข้มข้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เน้นเพิ่มปริมาณผู้เรียนทวิภาคี ปวส. ร้อยละ 25 ปักหมุดจังหวัดทวิภาคีเข้มข้น 22 จังหวัดทั่วประเทศ ทำความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาเพื่อสร้างธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่ม พัฒนาเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้เรียน 12,000 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการส่งเสริม การมีรายได้ระหว่างเรียน 6 โครงการ และฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไปตามความต้องการของชุม รวมถึงจัดทำแผนโครงการส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนในโรงเรียนพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 5 แห่ง และแผนการพัฒนาอาชีพสำหรับผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น 6 หลักสูตร
  1. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้สื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นการประเมินวิทยฐานะผ่านระบบ DPA (Digital.Performance.Appraisal) ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยื่นคำขอประเมินวิทยฐานะผ่านระบบ DPA รวมทั้งสิ้น 67,007 ราย โดยประเมินแล้วเสร็จ 63,429 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการประเมิน 3,578 ราย รวมถึงกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร.ขั้นตอนการประเมินไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน คำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษา และสอดคล้องกับการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
  1. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ลดขั้นตอน ลดเอกสาร เพิ่มความสะดวกให้ครูย้ายกลับภูมิลำเนาได้ง่ายขึ้นด้วยความโปร่งใส กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matchingt System (TMS) โดยจะเปิดใช้งานเพื่อให้ครูได้ยื่นคำขอร้องย้ายสับเปลี่ยนได้ในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 31 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญในวันครู ปี 2567
  1. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ขณะนี้สถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำร่องการใช้แท็บเล็ต (Tablet) ในการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายสำหรับการดำเนินงานในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการในการสนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ในการช่วยจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนจัดหาแท็บเล็ต (Tablet) ที่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2567

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของบูธจัดแสดงนิทรรศการ 10 นโยบาย จะแสดงให้เห็นถึงผลงานจากการจัดการเรียนรู้ที่เป็นเลิศของสถานศึกษา หรือผลงานการดําเนินงานที่เป็นเลิศของหน่วยงาน (Best Practice) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย ในรอบ 3 เดือน ประกอบด้วย

บูธที่ 1 ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา

บูธที่ 2 ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น

บูธที่ 3 แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

บูธที่ 4 จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอเหมาะสม

บูธที่ 5 เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”

บูธที่ 6 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ

บูธที่ 7 จัดระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต

บูธที่ 8 การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ

บูธที่ 9 จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา และ

บูธที่ 10 มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

นอกจากนี้ยังมีงานที่เข้ามาเสริมเติมเต็มในกิจกรรมเกี่ยวกับลูกเสือ-เนตรนารี และกิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments