เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “สภาวการณ์การศึกษาไทยในยุค Global Boiling” โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ทั้งนี้การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อแถลงผลการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาในปี พ.ศ. 2566 และนำเสนอทิศทางและแนวโน้มทางการศึกษาของ ปี พ.ศ. 2567
โดย นายสิริพงศ์ กล่าวในการเปิดการประชุมว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะขับเคลื่อนแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาในภาพรวมของประเทศเพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษา
ดร.อรรถพล กล่าวว่า สกศ. ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยในการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา เพื่อจัดทำเป็นรายงานสภาวะการศึกษาไทยเป็นประจำทุกปี และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้พัฒนาต่อยอดการดำเนินการดังกล่าวได้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการนำเสนอสภาวะการศึกษาไทย รายไตรมาสขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับสภาวะการศึกษาไทยภาพรวมปี 2566 ประเด็นทางการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้ปกครองคาดหวังและสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการศึกษาไทย ปี 2567 มี 6 ประเด็น คือ 1) การพัฒนาหลักสูตรให้ยึดหยุ่น และมีการประเมินผลที่หลากหลาย 2) การเคารพสิทธิและความต้องการของผู้เรียน 3) การลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพที่เท่าเทียม 4) การพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน 5) เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ 6) ความต้องการครูที่เข้าใจ เป็นที่ปรึกษา แนะแนว และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน
“สภาการศึกษาได้ผลการสแกนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นสภาวะการศึกษาไทย ไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่า มี 5 แนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลสำคัญต่อการจัดการศึกษาในปี 2567 คือ 1) Global Boiling & Green Economy 2) Fifth Industrial Revolution 3) PISA 2022 4) Soft Power และ 5) A variety of skill sets ทั้งนี้ แนวโน้มทั้ง 5 ประเด็น จะถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการจัดทำนโยบายและแผนของหน่วยงานทางการศึกษาต่อไป” ดร.อรรถพล กล่าวและว่า สภาการศึกษาได้รับความร่วมมือในการดำเนินการจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีทั้งภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม หน่วยงานระหว่างประเทศ รวมทั้งเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษา โดยในการประชุมครั้งนี้ สภาการศึกษาได้เชิญกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันทำงานพัฒนาการศึกษาไทย กว่า 40 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ และแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาของกลุ่มเยาวชน และได้มีการยื่นข้อเสนอปฏิญญาเยาวชน แด่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาด้วย สำหรับสภาวะการศึกษาไทยในไตรมาสต่อไป สภาการศึกษาจะนำเสนอการนำความรู้ด้านวิทยากรข้อมูล (Data Science) อาทิ AI, Machine Learning มาใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย