ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำ แพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบการแนะแนว (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานจากหน่วยงานองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)  ได้ข้อสรุปว่า ในส่วนของข้อมูลรายละเอียดสื่อเทคโนโลยี (Metadata) สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน(สทร.) สพฐ. จัดทำฐานข้อมูลและจัดหมวดหมู่และสารบัญของสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำหนดคำจำกัดความสื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ แอปพลิเคชันมัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ วีดีโอ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์  ซึ่ง สทร.จะสำรวจข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำรายงานผลต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานที่กำลังดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์ม และเนื้อหาให้ดำเนินการต่อไป โดยปรับให้เข้ากับแพลตฟอร์มใหม่ที่ ศธ. กำลังดำเนินการ

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัลและการสนับสนุนระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัล สทร. มีแผนดำเนินการพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัลประกอบด้วย แพลตฟอร์ม สื่อคอมเทนต์ เช่าคลาวด์ และระบบเครือข่ายของสถานศึกษา และการสนับสนุนระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัล ประกอบด้วย อุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับผู้เรียน อุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับครูผู้สอน ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารงาน โดยมีข้อเสนอแนะและสิ่งที่ฝาก คือ 1. หน่วยงานต้นสังกัด ต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนงบประมาณของโครงการ ปีงบประมาณ 2567 และ 2568 ให้สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) 2. การพัฒนาแอปพลิเคชันในรูปแบบคลาวด์ (Cloud based) ให้แต่ละหน่วยงานหาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนซื้อคลาวด์ของหน่วยงาน เปรียบเทียบกับการเช่าหรือการซื้อกับผู้บริการภายนอก และ 3. สทร. ทำข้อมูลเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ระหว่าง notebook, tablet และ chromebook

ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า สำหรับการสอนเสริมความรู้ A-Level นั้น สพฐ. มีแผนการสอนเสริมความรู้ A-Level ระหว่างวันที่ 11 – 14 มี.ค. 67 จำนวน 8 วิชา ได้แก่ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1, 2 ภาษาไทย เคมี วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ชีววิทยา และฟิสิกส์  โดยมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มการสอนเสริมความรู้ A-Level ให้ครอบคลุมทุกวิชา  ปรับรูปแบบการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เทอม 2 เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเตรียมพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า พร้อมทั้งจัดทำประกาศ คู่มือการดำเนินการให้ชัดเจน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีปัญหาด้านการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ขอให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์( สสวท.) จัดทำตัวอย่างหลักสูตรสถานศึกษาที่มีความหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของสถานศึกษา 30 – 40 หลักสูตร เพื่อให้โรงเรียนเลือกใช้ได้ตามความต้องการ เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับงานอาชีพ

“สำหรับ ข้อสอบภาษาอังกฤษ Placement Tests นั้น สพฐ. โดยศูนย์ HCEMC จัดทำ Placement Tests ภาษาอังกฤษ ระดับ A1 และ A2 ซึ่งจะเปิดใช้ระบบระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค. 67 และได้แจ้งศึกษานิเทศก์ในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมในการจัดสอบเรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ได้ทำแพลตฟอร์ม e-learning ให้ครูได้เรียนรู้ ซึ่งจะเริ่มใช้งานระบบได้ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 67 เป็นต้นไป โดยมีเนื้อหาจำนวน 8 หน่วย ได้แก่ 1) ออกแบบการเรียนรู้เชิงรุก 2) เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ 3) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการเรียนรู้ 4) ภาษาอังกฤษ 5) เครื่องมือ เทคนิคการสอน 6) ทักษะการนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ 7) เทคนิคการออกแบบการเรียนรู้ผ่านเกม และ 8) การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้   โดยมีข้อเสนอแนะว่า ให้พัฒนาเนื้อหาให้เข้ากับแพลตฟอร์มกลางที่จัดทำขึ้น และ ขยายการอบรมพัฒนาไปยังหน่วยงานอื่นด้วย”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนได้ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำระบบการวัดผลเทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษาและธนาคารเครดิตแห่งชาติ ที่มี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งทุกหน่วยงานได้รายงานผลการดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในแผนไตรมาสแรก และส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยที่ประชุมมีข้อเสนอและมอบหมายภารกิจเพิ่มเติม ดังนี้

1) ให้ สกศ. นำผลประชุมคณะอนุกรรมการฯ เกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนการดำเนินงานเข้าเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี ศธ. และควรมีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ แถลงข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะทดลองนำร่องกับจังหวัดที่กำหนดไว้ก่อนการทดลองนำร่าง platform คู่มือ และแนวปฏิบัติฯ ไปใช้ รวมทั้งให้นำเสนอแผนการดำเนินงานเป็นระยะเพื่อให้หน่วยงานอื่นสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้

2) ให้ สอศ. ศึกษาและเชื่อมโยงแนวทางการจัดตั้งศูนย์เทียบโอนของสถานศึกษาอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษา ทั้ง 77 จังหวัดให้เชื่อมโยงกับระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ของ สกศ. และสามารถเทียบโอนกันได้ในทุกรูปแบบ และระหว่างที่มีการจัดตั้งศูนย์ ถ้าหากมีการเทียบโอนการศึกษาหรือวิธีการอื่นใดให้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าด้วย

3) ให้ สช. นำเสนอรายงานผลการดำเนินหรือผลการศึกษาใดที่ได้มีการดำเนินงานไปแล้ว เช่น ผลการศึกษาดูงานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่ามีผลลัพธ์เป็นอย่างไร และสามารถนำมาประยุกต์ใช้อะไรได้บ้าง รวมถึงศึกษาวิธีการเทียบโอนผลการเรียนของการศึกษานอกระบบ ตามอัธยาศัยตาม หรือกลุ่มสถานศึกษามาตรา 12 เช่น Homeschool หรือศูนย์การเรียนฯ ว่ามีแนวทาง/วิธีการ/หน่วยงานที่รับผิดชอบการเทียบโอนอย่างไรบ้าง

4) ให้ สกร. ทบทวนแผนการดำเนินงานเพื่อให้การขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน และสอดคล้องไปกับปฏิทินแผนการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ของ สกศ. และแผนการดำเนินงานของ สช สอศ. ระบุกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการสอบเทียบของผู้เรียนในทุกครั้งที่จัดการประชุมโดยคณะทำงานชุดนี้

5) ให้ สพฐ. นำเสนอผลการศึกษาข้อมูลเรื่องการลดระยะเวลาเรียน (fast track) ให้ที่ประชุมทราบในครั้งต่อไป

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments