วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มสมรรถนะวิชาชีพเฉพาะ ครั้งที่ 1 และมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เข้าร่วมประชุมฯ ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นายประพัทธ์ กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มสมรรถนะวิชาชีพเฉพาะ (รายวิชาที่มีความเฉพาะทาง ของแต่ละสาขาวิชา) ประเภทวิชาอุตสาหกรรม, ประเภทวิชาเกษตรกรรมและประมง, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และประเภทวิชาอุตสาหกรรมอาหาร โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ จำนวน 20 กลุ่มอาชีพ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 38 สาขาวิชา และในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 61 สาขาวิชา สอศ. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอาชีวศึกษา สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถทำให้ให้ผู้เรียนอาชีวะสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ มีการวิเคราะห์ประเภทวิชา กลุ่มอาชีพ และสาขาวิชา จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการพัฒนาประเทศ (10 + 2 กลุ่มอุตสาหกรรม) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน โดยหวังว่าหลักสูตรที่จะประกาศในปีพุทธศักราช 2567 ในครั้งนี้จะมีความเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพ ในประเทศและระดับสากล ที่ตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการในทุกระดับ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12 – 16 ธันวาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 442 คน