เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพฯ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)ร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จัดนิทรรศการและการประกาศผลรางวัลนวัตกรรม GPAS 5 Steps สำหรับเยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง Youth-Change Agents: GPAS 5 Steps Innovations Competition 2023 โดยมี รศ.ดร.วินัย พูลศรี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติในงาน
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นการผสานพลังทางวิชาการระหว่างพว. กับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการ 8 สถาบัน ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร 5) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 6) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 7) มหาวิทยาลัยทักษิณ และ 8) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาของประเทศ
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงศักยภาพในการเป็นนวัตกรซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอน แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมเป็นการพลิกโฉมการสอนให้เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน สร้างการมีส่วนร่วมในการลงมือทำ อีกทั้งยังสะท้อนความสำเร็จของครูผู้สอนที่เป็นผู้บ่มเพาะนักเรียนให้เป็นนวัตกร ผู้บริหารโรงเรียนที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ รวมถึงผู้ปกครองที่เปลี่ยนความเชื่อจากการยึดถือความสำเร็จของบุตรหลานจากคะแนนสอบมาเป็นส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขและการพัฒนานักเรียนในมิติของการปฏิบัติและคุณลักษณะที่ดีงาม เพื่อสร้างให้พวกเขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพชีวิตและสังคมที่น่าอยู่ขึ้น
รศ.ดร.วินัย พูลศรี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีเด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถขนาดนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญตอนนี้ คือ ต้องปรับและต้องรีบให้เยาวชนได้เตรียมการ โดยผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาหรือประเทศชาติจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งการจัดงานวันนี้ พว.ได้สร้างโอกาสและจุดประกายให้เกิดกระบวนการคิดและการเรียนรู้ที่เป็นระบบจนเกิดเป็นการเรียนรู้แบบ Active learning ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะพลิกโอกาสก้าวเข้าสู่มิตินวัตกรรมทางการการศึกษาอย่างแท้จริง และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งชีวิตและจิตใจให้เด็ก ที่สำคัญเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบ Active learning ก็เป็นการนำหลักการทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงและมีคุณภาพมากขึ้น และจากการดูนวัตกรรมของเด็กวันนี้สิ่งที่อยากบอก คือ วันนี้ประเทศไทยไม่แพ้ใครในโลกในเรื่องนวัตกรรม ระบบการคิด กระบวนการคิด ซี่งตนอยากให้ช่วยกันสานต่อ เพื่อความยั่งยืนคิดต่อยอดเพื่อเป็นความยั่งยืนของอนาคต ความยั่งยืนทางการศึกษาใหม่
ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย(สปคท.) กล่าวว่า ขอชื่นชม พว. และ 8 มหาวิทยาลัยในการร่วมกันคิดสร้างสรรค์สร้างให้เด็กไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดการศึกษา เพราะหลักของการจัดการการศึกษาคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็น การเริ่มต้นสิ่งที่เป็นคุณค่าในอนาคตการศึกษา และที่อยากชื่นชมอีกอย่าง คือ นวัตกรรมที่เกิดจากผู้เรียนที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้เห็นว่าครูก็มีส่วนสำคัญในการดำเนินการจัดกระบวนการให้ผู้เรียน โดยใช้กระบวนการ GPAS 5 Steps ซึ่งก็คือระเบียบวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีจุดเด่น คือ เมื่อเด็กได้ทดลองปฏิบัติแล้วได้สรุปความรู้แล้วยังได้คิดที่จะสื่อสารและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะในหลักวิทยาศาสตร์ก็คือการประยุกต์ใช้ ทำให้เกิดเป็นการสื่อสารและยกระดับนวัตกรรม ที่เด็กไทยควรจะต้องมีต่อไป แต่การจะเกิดการสื่อสารและนวัตกรรมได้นอกจากต้องเกิดจากการคิดวิเคราะห์ การรวบรวมข้อมูลที่สมบูรณ์และมีการทดลองแล้ว ยังต้องมีแรงจูงใจและผลักดันจากครูที่ทำให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้
ดร.นิวัตร กล่าวต่อไปว่า ท้ายที่สุดซึ่งมีความสำคัญที่สุดนั่นคือการประเมินและเพิ่มคุณค่านวัตกรรม เพราะถ้านวัตกรรมอยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้จึงเป็นการสร้างเด็กให้รู้จักคุณค่าของผลงานที่เกิดขึ้น และคุณค่านี้ยังสามารถไปบริการสังคม บริการสาธารณะ รวมถึงยกระดับอาชีพได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าตรงนี้ครูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะดำเนินการให้เกิดการยกระดับพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม ขณะที่ผู้ปกครองก็เช่นกันที่ตนมองว่าเด็กจะดี เก่ง มีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ครอบครัวหรือสถาบันครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ถ้าผู้ปกครองหรือครอบครัวไม่ให้ความสำคัญไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่สร้างครอบครัวที่อบอุ่น และไม่เสริมสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์โรงเรียนก็จะไม่สามารถดำเนินการให้ลูกหลานเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้
“ปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 เราจะพูดถึงเรื่องของ Active Learning กันมากซึ่งก็คือกระบวนการในการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ ผู้เรียนสำคัญที่สุดนั่นก็คือการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง แต่ในทางปฏิบัติครูยังคงใช้เวลาพูดในห้องเรียนมากกว่าให้เด็กปฏิบัติ ซึ่งควรจะยกเลิกได้แล้ว ครูควรจะพูดให้น้อยกว่าให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มคิด วิเคราะห์ สรุปบทเรียนร่วมกัน คิดสร้างสรรค์ร่วมกัน อยากให้โรงเรียนตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ พว. และ 8 มหาวิทยาลัยกำลังทำถือว่าเป็นการผลักดัน เรื่องของ Active Learning และการให้นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติจริง และ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถ้าโรงเรียนได้นำกระบวนการนี้ไปใช้ นำไปสู่การสอนให้ได้ก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย เพราะกระบวนการนี้เป็นการสร้างให้เด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผลซึ่งไม่ใช่การตอบคำถามคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่จะสามารถตอบคำถามได้ทั้งหมดทุกคำถามแม้แต่ทักษะการทำงาน ทักษะทางอาชีพ เราก็ต้องรู้จักการบริหารเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เป็นเรื่องของความจำอย่างเดียว และหลักของการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์จนถึงการรวบรวมข้อมูลสุดท้าย เค้าจะมาดูว่าชีวิตของเค้าเป็นอย่างไร ทักษะชีวิตเป็นอย่างไร การดำรงชีวิตเป็นอย่างไร ทักษะในการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องติดตัวเด็กไปเสมอ”ดร.นิวัตรกล่าว