เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ)กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดโครงการสอบธรรมศึกษา ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีภูมิคุ้มกันทางใจใช้ธรรมมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีความเข้มแข็ง และการใช้ชีวิตไม่ประมาท เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายภายใต้มอตโต้”เรียนดี มีความสุข”เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime คือ เรียนที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ หาข้อมูลอยู่ในสมาร์ทโฟนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ หรือ เรื่องของ Learn to Earn ที่หลายคนตีความว่าจบแล้วมีงานทำ ก็ไม่ใช่แค่นั้น แต่หมายความว่ามีรายได้ระหว่างเรียน หรือ เรื่อง upskill reskill ส่วนการศึกษาธรรมะมีทั้งการศึกษาในระบบปกติและทางโซเชียล วันนี้มีการสอบซึ่งเป็นโครงการสอบธรรมศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการประเมินด้วยการวัดผลอย่างหนึ่งว่า เรารู้และเข้าใจถูกต้องหรือไม่ หากเข้าใจไม่ถูกต้องสอบไม่ผ่าน หรือบางทีสอบผ่านแล้วก็อาจเห็นข้อสอบบางข้อเป็นจุดที่น่าสนใจ อาจนำไปทบทวนเรื่องที่ศึกษาให้ถ่องแท้ ซึ่งตนคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เป็นการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สมเด็จพระมหาธีรวงศ์ แม่กองธรรมสนามหลวง กล่าวว่า สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง แผนกธรรม ได้จัดทำหลักสูตรแบ่งเป็นช่วง ๆ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยทุกหลักสูตรจะยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางในการเรียนการสอน เพราะต้องการให้ทุกคนในชาติซึ่งอยู่ในเมืองพุทธ มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติได้ศึกษา เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าทำไมบ้านเมืองเราจึงไม่มีความสงบสุขเท่าที่ควร ซึ่งจากการวิเคราะห์เป็นเพราะว่าเรายังขาดหลักธรรมที่นำไปปฏิบัติ ทางคณะสงฆ์จึงพยายามปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอน รู้ว่าสิ่งใดชั่ว สิ่งใดไม่ดี ไม่ควรประพฤติ สิ่งใดเป็นความดีเป็นความถูก ต้องควรประพฤติ เป็นต้น
“เราต้องช่วยกันปลูกฝังให้เป็นสังคมมีวินัย เป็นสังคมที่มีระบบ ระเบียบชัดเจน เชื่อมั่นว่าจะเป็นสังคมที่มีความสุข เช่นพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ที่ท่านเคยปรารภตลอดเวลาว่า เรามาช่วยกันสร้างคนให้เป็นคนดีในสังคมให้มากขึ้น เราไม่สามารถทำคนทุกคนให้เป็นคนดีได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้คนในสังคมนั้นเป็นคนดี เมื่อคนดีมีมากขึ้นก็จะทำให้สังคมเป็นสังคมที่สงบสุข อยู่กันด้วยความเรียบร้อยปรองดองสามัคคีมีเมตตาเอื้ออารีต่อกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่คณะสงฆ์รับนโยบายมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งมีพระราชหัตถเลขา แจ้งให้องคมนตรีรับทราบว่า พระองค์ท่านอยากเห็นพระสงฆ์เป็นผู้นำของสังคม เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการอบรมบ่มเพาะนิสัยให้แก่ประชาชนในชาติให้ประชาชนในชาติมองเห็นสังคมของพระสงฆ์เป็นสังคมที่มั่นคงในคุณธรรม ซึ่งเรื่องนี้คณะสงฆ์ได้รับพระบรมราโชบายมาปฏิบัติโดยตลอด”สมเด็จพระมหาธีรวงศ์กล่าว
แม่กองธรรมสนามหลวง กล่าวต่อไปว่า การเรียนการสอนธรรมศึกษา เป็นรูปลักษณ์อย่างหนึ่งที่จัดให้มีการเรียนการสอน แต่สิ่งที่จะถือว่าสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อไปก็คือการนำหลักธรรมที่เรียนรู้ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่สังคมและประเทศชาติ ถ้าทุกคนตั้งแต่ครูอาจารย์หรือพ่อแม่มีหลักฐานเหล่านี้อยู่ในจิตใจช่วยกันทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า สังคมจะเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยความสุข คุณธรรม คนดี และเมื่อสังคมอุดมไปด้วยคนดีมากมายก็จะทำให้สังคมเป็นสังคมที่มีความสุขอยู่กันด้วยมิตรไมตรีเอื้ออารีต่อกันเป็นสังคมที่มีความสุขอย่างแท้จริง
สมเด็จพระมหาธีรวงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการเน้นตลอดเวลาว่า จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้มากขึ้น เพราะความรู้นั้นถ้าไม่มีคุณธรรมจริยธรรมกำกับ ความรู้นั้นจะทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่นเดียวกันรู้มากอาจจะเสียหายมาก ถ้าไม่มีคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปกำกับความรู้ให้เดินไปในแนวทางที่ตรงตามหลัก เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนธรรมศึกษาจะเป็นเข็มทิศอย่างหนึ่งให้เขาเหล่านั้นเดินไปในทางที่ถูกในทางที่ควร เราไม่ต้องการสอนให้ผู้เรียนสำเร็จเป็นพระอรหันต์หรือไปนิพพาน แต่ทำอย่างไรให้เขาอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างมีความสุข มีความเข้าใจถูกต้อง ดีงาม และมีวินัย ซึ่งถ้าสอนอย่างนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นจะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศชาติในอนาคต สังคมมีคนที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนานำคุณธรรมจริยธรรมไปปฏิบัติ ประเทศไทยก็จะอุดมไปด้วยคนดีมากขึ้น