เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศึกษาธิการ) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน การประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับประเทศ และกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ในวันที่ 9 ธันวาคม ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายสมพงษ์ ตะโกพ่วง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและติดตาม ต้านทุจริตศึกษา 2 สำนักต้านทุจริตศึกษา (สำนักงาน ป.ป.ช.) นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ (ด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้)และข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์  กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดําเนินการในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาคการศึกษา ที่มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคต โดยดําเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่กําหนดเป้าหมายหลักให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผ่านการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ โดยให้ความสําคัญกับการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรม ของคน ทุกกลุ่มในสังคมให้มีจิตสํานึกและมีพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

“การพัฒนาผู้เรียน นอกจากมุ่งเน้นการพัฒนาด้านความรู้ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการแล้ว ควรต้องคำนึงถึงการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ โดยเสริมสร้างผู้เรียนให้มีความรักในสถาบันหลักของชาติ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีหลักคิดที่ถูกต้อง เป็นพลเมืองดีของชาติ และพลเมืองโลกที่มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มัธยัสถ์อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย และรักษาศีลธรรม ซึ่งการศึกษานั้นถือเป็นเรื่องของคนทุกคน ดังนั้น ความคาดหวังต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงเพราะการดำเนินการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องดำเนินการด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้พลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เราต้องร่วมกันพัฒนาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาปัจจุบัน ร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เจริญรุดหน้า ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”นายสุรศักดิ์ กล่าว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เวทีแห่งนี้ถือเป็นเวทีนำเสนอผลงานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ผ่านการดำเนินโครงการโรงเรียนสุจริต ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น ตนขอให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากเวทีแห่งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนไปสู่การขับเคลื่อนโครงการที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในอนาคต คือ การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

ดร.นายภูธร กล่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) เพื่อพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ. ให้เกิดคุณลักษณะ 5 ประการของโครงการโรงเรียนสุจริต ได้แก่ ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และจิตสาธารณะ โดยดำเนินการตามแนวทางของปฏิญญาโรงเรียนสุจริต ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการปลูกฝัง และด้านการสร้างเครือข่าย ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสุจริต กิจกรรมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด สพฐ. (ITA Online) และการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ในครั้งนี้มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ 1. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน และการประกวดแข่งขัน จำนวน 7 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) กิจกรรมบริษัทสร้างการดี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 2) กิจกรรมบริษัทสร้างการดี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 3) กิจกรรมถอดบทเรียน (Best Practice) นวัตกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา 4) นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู 5) นวัตกรรมการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนสุจริตของศึกษานิเทศก์ 6) นวัตกรรมการขับเคลื่อนโครงการของผู้รับผิดชอบโครงการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต 7) กิจกรรมการใช้และประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม) นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ ภาพยนตร์สั้นต่อต้านการทุจริต กิจกรรมผลงานหนังสือเล่มเล็กจากผลการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) กิจกรรมออกแบบบอร์ดเกม เพื่อส่งเสริมการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption Board Game) และมีการจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต แสดงผลการดำเนินงาน และภาพความสำเร็จของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online) รวมถึงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ต้านโกงเสมือนจริง (Virtual Anti-Corruption Museum) ที่แสดงแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วิวัฒนาการจากอดีต ปัจจุบัน เชื่อมไปสู่อนาคต และกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments