ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พิจารณาปรับเปลี่ยนการประเมินวิทยฐานะฯ ตามโจทย์นโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เน้นการประเมินที่เป็นไปตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ลดขั้นตอนการประเมิน ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ยุ่งยาก และเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัยเป็นสำคัญ ขณะที่ ก.ค.ศ. ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อมูลจากส่วนราชการ ซึ่งได้ข้อสรุปให้เดินหน้าใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) โดยให้ดำเนินการปรับปรุงระบบการประเมินฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ ก.ค.ศ.ที่จะให้มีการปรับปรุงระบบการประเมินฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1. เพิ่มห้องเรียนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สำหรับข้าราชการครูฯ ที่สอนในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น แนะแนว ลูกเสือ เนตรนารี รวมทั้งปรับปรุงภาระงานสอน ในส่วนของชั่วโมงสอน ให้เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานจริง 2. เพิ่มทางเลือกในการยื่นคำขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับครูที่มีความถนัดในการสร้างและใช้นวัตกรรม 3. เพิ่มตัวชี้วัดการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 4. เพิ่มช่องทางการแนบหลักฐานการได้รับรางวัลหรือได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐหรือเอกชน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยเป็นการแนบตามความสมัครใจไม่เป็นเงื่อนไขบังคับ 5. พัฒนาระบบ DPA Version 3 ให้สะดวกต่อผู้ใช้งานมากขึ้น และ 6. จัดทำ Application สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างสำนักงาน ก.ค.ศ.กับกรรมการประเมินในระบบ DPA
“การที่ ก.ค.ศ.จะทำการปรับปรุงระบบการประเมินครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของข้าราชการครูที่จะมีโอกาสได้เลื่อนวิทยฐานะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงกับนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระครู แก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งของครูก็ได้มาจากเงินวิทยฐานะ เมื่อครูมีขวัญกำลังใจที่ดี ครูก็จะมีความสุข และจะทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน ผมต้องขอขอบคุณ ก.ค.ศ.อีกครั้งที่รับฟังความเห็นและรับรู้ความเดือดร้อนของครู ยอมรับข้อเสนอทางออกจากทุกส่วน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว