นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวมอบนโยบายในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการศึกษา ในจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2566 ว่า “เรียนดี มีความสุข” เป็นมอตโต้สำคัญของนโยบายการศึกษาที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เนื่องจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การเน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา  และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา มี 4 ด้าน ประกอบด้วย ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะ, ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นด้วยความโปร่งใส, แก้ไขปัญหาหนี้สิน, จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 Tablet และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 6 ด้าน คือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา, 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ, ระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต, การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ, การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา, มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้นโยบายเกี่ยวกับการลดภาระครู โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญว่าการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะครูคือบุคลากรและเป็นกลไกที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าทำให้ขวัญกำลังใจของบุคลากรทางการศึกษาและครูดี มีชีวิตที่ดีทุกอย่างก็จะดีตามมา การสอนที่ดีการดูแลเอาใจใส่นักเรียนที่ดีเกิดได้ด้วยขวัญกำลังใจที่ดีและคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาและครูที่ดี  เรื่องของวิธีการกำหนดวิทยฐานะครูตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำอยู่ ซึ่งตนก็ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) องค์กรหลักต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อดูขั้นตอนกระบวนการของการทำวิทยฐานะ หากสิ่งใดที่ไม่จำเป็น สิ่งใดที่ลดขั้นตอนได้ หรือประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ครูได้ก็สมควรต้องปรับ โดยขณะนี้กำลังรับฟังความเห็นของครูอยู่ ซึ่งความชัดเจน กำลังจะตกผลึกในเร็ว ๆ นี้ รับประกันว่าจะเป็นที่พอใจของครูส่วนมากแน่นอน ทั้งนี้นอกจากจะพยายามหาทางลดภาระให้ครูแล้ว ยังกำลังหาทางเพิ่มรายได้ให้แก่ครูควบคู่ไปกับการลดภาระด้วย ซึ่งการเพิ่มรายได้จากการมีวิทยฐานะก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะพยายามดำเนินการ

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการแจกแท็บเล็ต ที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาว่า จะแจกแท็บเล็ตให้ครูและนักเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับมาดำเนินการ แต่ตนยังไม่อยากให้ใช้คำว่า “แท็บเล็ต”เพราะจากการสอบถามครูและบุคลากรที่จะเป็นผู้ใช้แล้ว มีเสียงสะท้อนว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นแล็บทอปหรือโน๊ตบุ๊ก ซึ่งจะทำงานได้สะดวกขึ้นและคล่องตัวกว่า  กระทรวงศึกษาธิการก็รับมาเป็นข้อมูลและศึกษาข้อดีข้อเสียของแท็บเล็ตและโน๊ตบุ๊ก ทั้งเรื่องของราคาที่แตกต่าง ความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้น เพราะต้องแจกเด็กนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตามในการแจกมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง ทั้งอาจจะแจกครูเป็นแล็บทอปหรือโน๊ตบุ๊ก  แล้วแจกเด็กเป็นแท็บเล็ต หรือ แจกแท็บเล็ตทั้งครูและนักเรียน หรือแจกแล็บทอปหรือโน๊ตบุ๊ก ทั้งครูและนักเรียน เพื่อให้เป็นอุปกรณ์เดียวกันเพื่อช่วยในการสอนก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่สรุปต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน โดยได้ตั้งคณะทำงานศึกษาความคุ้มค่าและดูงบประมาณก่อน อะไรคุ้มค่าที่สุดก็จะเลือกอันนั้น

“ส่วนเรื่องวิธีการจัดหาเราจะไม่ซื้อ แต่จะเช่า เพราะของพวกนี้สามถึงห้าปีก็ตกรุ่น ดังนั้นการเช่าจะคุ้มค่ากว่า เพราะผู้ให้เช่าจะต้องมีสัญญาดูแลบำรุงรักษาด้วย แล้วยังต้องดูแลเรื่องของระบบการใช้งานอีก และที่ผู้ปกครองถามกันมากว่าจะแจกเมื่อไหร่บอกได้ว่า เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องของงบประมาณ ช่วงที่รัฐบาลเข้ามาไม่ได้อยู่ในช่วงทำคำของบประมาณปกติปี 2567 และกว่าจะได้ใช้งบฯก็เป็นช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2567 ซึ่งก็ใกล้สิ้นปีงบประมาณแล้ว ก็คงไม่ได้แจกในปี 2567 แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการคิดเสมอ คือ ก่อนที่จะแจกไม่ว่าจะเป็น โน๊ตบุ๊ก  หรือ แท็บเล็ต จะต้องทำแพลตฟอร์มและสร้างคอนเทนท์ให้ดีก่อน เพราะถ้าไม่มีคอนเทนท์ที่สมบูรณ์ ไม่มีเนื้อหาที่ดี แจกไปก็ไม่เกิดประโยชน์  ฃึ่งตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะทำงานทำเรื่องของคอนเทนท์และแพลตฟอร์มแล้ว” รมช.ศึกษาธิการกล่าวและว่า ที่สำคัญในการลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครองนั้น เรามีความคิดว่าในการเรียนของเด็กเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดวิชาที่ไม่จำเป็นลง  โดยเฉพาะเด็กอาชีวะ เช่น ถ้าจะเป็นช่างเชื่อม ระดับ ปวช.จำเป็นต้องเรียนถึง 3 ปี หรือไม่ จะลดวิชาที่ไม่จำเป็นลงได้หรือไม่ เพื่อประหยัดเวลาเรียนและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่ถ้าจำเป็นก็ให้เรียนไป ส่วนสายสามัญ ชั้น ม.ปลาย ก็ให้มีการวัดผลเทียบระดับการศึกษา ไม่ต้องเรียนถึง 3 ปี เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments