วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะพูดคุยกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ทั่วประเทศ ในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566) โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐถาพิเศษ และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สอศ. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมปทุมมาศ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวในโอกาสพบปะผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชนว่า อยากให้ความสำคัญและสื่อสารกับทุกท่านในเรื่องของการเรียนควบคู่การมีรายได้ระหว่างเรียน “Learn to Earn” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญและครอบคลุมกับหลายเรื่อง มั่นใจว่าหากเราทำเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง จริงจัง จะเป็นการพัฒนาการอาชีวศึกษาที่เห็นภาพได้จริงและมีความยั่งยืน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งระบบทวิภาคี การสร้างผู้ประกอบการ การเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น ดังนี้
1. การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี : การที่จะผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ จำเป็นต้องเรียนรู้จริงจากผู้เชี่ยวชาญในด้านอาชีพนั้น ๆ การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ความสำเร็จในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้นจะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา สถานศึกษา สถานประกอบการ และหน่วยงานส่วนกลาง รวมทั้งจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสถานประกอบการให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนทวิภาคีให้ได้ถึง 50% โดยผู้เรียนในระบบทวิภาคีต้องมีทั้งความรู้ สมรรถนะวิชาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน ไม่เป็นภาระผู้ปกครอง และยังช่วยเหลือผู้ปกครองด้วย
2. การส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ : การสร้างความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพอิสระผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยจัดอบรมการเขียนแผนธุรกิจ ให้ความรู้เบื้องต้นในการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ด้านการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจ ช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเชิญสถานประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้ และจัดกิจกรรมศึกษาดูงานในสถานประกอบการ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในระบบปกตินอกเหนือจากระบบทวิภาคีสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้ นอกจากนี้ได้รับทราบว่า สอศ. มีการพัฒนาศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในสถานศึกษา ให้พร้อมต่อการเป็นศูนย์ฝึกและบ่มเพาะการทำธุรกิจแก่นักเรียน นักศึกษา โดยมีการประเมินความพร้อมของศูนย์ฯ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติในทุกปีการศึกษา อยากฝากให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน เก็บข้อมูลว่าที่ผ่านมาเราสามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด ประเมินสิ่งที่ทำเพื่อปรับปรุงงาน รวมทั้งชื่นชมที่ สอศ.ได้จัดอบรมกับสถาบันการศึกษาของจีนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญมาก นับว่าเป็นการดำเนินงานที่ดี
3. หลักสูตรระยะสั้น : วิทยาลัยสารพัดช่าง มีบทบาทสำคัญมากในการจัดการศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งมีมากกว่า 100หลักสูตร เป็นการเรียนรู้ควบคู่กับการมีรายได้ระหว่างเรียน จึงต้องส่งเสริมให้ขยายไปยังวิทยาลัยที่อยู่ในชุมชน เช่น วิทยาลัยการอาชีพที่จะสอนอาชีพทั้งในระบบปกติ และระยะสั้นควบคู่กันไป ซึ่งจะตอบสนองต่อทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ด้วย
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) มีบทบาทสำคัญเช่นกันที่ต้องทำหน้าที่สอนนักเรียนในระบบปกติให้มีอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน ตั้งแต่การศึกษาฝึกอบรม การประกอบอาชีพ การผลิต การแปรรูปผลผลิต บรรจุภัณฑ์ การตลาด สู่การสร้างรายได้หมุนเวียน ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนการสร้างทักษะอาชีพเกษตรยุคใหม่ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ สู่การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิต ชุมชน สังคม และทันต่อบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งเสริมการตลาดสำหรับผลผลิตของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น ตลอดจนการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาดให้กับนักเรียน นักศึกษา พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคการเกษตรทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่าหากทำแบบนี้ได้ เราจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาการเกษตรที่ครบวงจร
“ร่วมกันสร้างค่านิยมให้สังคมเข้าใจว่า งานอาชีวะสร้างความมั่นคงในชีวิต เรียนอาชีวะมีรายได้ พร้อมนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ไปสานต่อ อยากให้พวกเราทำงานแบบปิดทองหลังพระ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ตั้งใจทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. พร้อมสนับสนุนและดูแลอาชีวะให้รุ่งเรือง ไม่ใช่แค่สร้างงานในประเทศแต่ให้ไปถึงต่างประเทศ ให้เป็นกำลังคนอาชีวะที่มีความรู้ มีทักษะ ให้พวกเราร่วมกัน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ศธ. มีนโยบายเสริมสร้างสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งความสุขและปลอดภัย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีใน 3 ประเด็นคือ 1) เรื่องยาเสพติด วิทยาลัยได้ผลิตสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสั้น Tiktok Facebookเพื่อส่งเสริมการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดให้นักเรียน นักศึกษา เข้าถึงได้ เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ” Anywhere Anytime” 2) เรื่องความรุนแรง ขอให้วิทยาลัยช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และ 3) เรื่องการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อพึงระวัง ขอให้ครู อาจารย์ คอยดูแลให้คำปรึกษา อาจสร้างนักเรียนแกนนำมาช่วยครูที่ปรึกษา หรือเพื่อนช่วยเพื่อนก็จะทำให้ป้องกันปัญหาได้ดียิ่งขึ้น
“สำหรับประเด็นที่อยากจะฝากผู้บริหารทุกท่าน คือ เรื่องกรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี การยกระดับฝีมือ up-skill, re-skill และการวิเคราะห์สภาพตลาดแรงงานในอนาคต ขอเน้นว่าอาชีวศึกษาจะต้องเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับผู้ประกอบการได้ ส่วนด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ต้องเป็นสถานศึกษาแห่งความสุขและปลอดภัยให้กับผู้เรียนได้ ตลอดจนขอชื่นชมการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ที่ได้ดำเนินการจนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน แสดงถึงความสามารถ และศักยภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษา“รมช.ศธ.กล่าว
ส่วน นายยศพล กล่าวว่า สอศ. ได้นำนโยบายของ ศธ. มาสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงาน 8 วาระงาน ดังนี้
1. ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
2. พัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อลดภาระของผู้เรียนและผู้ปกครอง (Skill Certificate)
3. ยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง
4. พัฒนาระบบการเทียบระดับการศึกษาและคลังหน่วยกิตอาชีวศึกษา (Credit Bank)
5. พัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อการศึกษาและทำงาน (Language Skills)
6. สร้างช่างชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพเสริม (1 วิทยาลัย 1 ศูนย์ช่างชุมชน)
7. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลและการบริหารจัดการ
8. เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ ตามแนวทางการทำงานของ สอศ. มุ่งสานงานต่อ ก่อเริ่มงานใหม่ ด้วยหัวใจเดียวกัน “OVEC ONE Team”