เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สกศ. ได้เปิดให้มีการประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยจะรับฟังถึงวันที่ 19พฤศจิกายน 2566 ผ่าน https://shorturl.at/hvzE2 จากนั้น สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็น เสนอเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)และกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป ทั้งนี้ การจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถือเป็นงานหลักที่สกศ. ต้องเร่งดำเนินการ เพราะเป็นนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกนะทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ…2560 ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ แต่ที่ผ่านมายังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวตกไปโดยอัตโนมัติ
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่ จึงต้องเร่งดำเนินการ โดยสกศ. เลือกที่จะหยิบร่างพ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว มาเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง เพราะหากเริ่มนับหนึ่งใหม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกกว่า 1 ปี และกว่าจะวิพากษ์เสร็จกฎหมายก็จะไม่ทันสมัย และอาจเสร็จไม่ทันรัฐบาลนี้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับเดิมยังมีจุดอ่อน และเสียงคัดค้านในบางเรื่อง ดังนั้น การจัดทำร่างกฎหมายครั้งนี้ จะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ จะเน้นเรื่องจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีคุณภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ส่วนเรื่องของคน และสิทธิประโยชน์ที่ยังเป็นข้อขัดแย้ง ก็ให้ไปอยู่ในร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ…
“เท่าที่ดูมีประมาณ 14 มาตรา ที่ยังมีข้อวิพากษ์อยู่ ดังนั้น สกศ. จะนำตัวอย่างการจัดการศึกษา ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฟินแลนด์ และประเทศในยุโรป มาเปรียบเทียบ กับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน รวมถึงจะนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาจนตกตะกอนก่อน จากนั้นจะเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา มาร่วมกันวิพากษ์เพื่อหาข้อสรุปและปรับแก้รายละเอียด เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาก่อนเสนอเข้าครม. เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” ดร.อรรถพลกล่าวและว่าสำหรับข้อห่วงใยของสกศ.ที่มีต่อการผลักดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติก็คือเรื่องการเมือง จึงต้องทำงานควบคู่กับ คณะกรรมมาธิการ(กมธ.) การศึกษา และอยากให้เกิดการมีส่วนร่วมของพรรคต่าง ๆ มากขึ้น ตนจึงเข้าร่วมเป็นเลขานุการของกมธ.การศึกษา เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและนำแนวทางของแต่ละพรรคมาร่วมพิจารณา เมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาก็เชื่อว่า ร่างของกมธ.การศึกษา กับร่างที่ครม. ส่งไปจะมีความสอดคล้องกัน ลดความแตกแยกทางความคิด ทำให้การพิจารณากฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ดร.อรรถพล กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถสรุปผลการประชาพิจารณ์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณา จากนี้จะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนเพราะเคยพิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในการเปิดสมัยประชุม แต่ยังมีตัวแปรสำคัญ และเป็นข้อห่วงใยอีกเรื่อง คือ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่ต้องร่วมพิจารณาด้วยจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ถึงจะมีส.ว.ชุดใหม่ ก็อาจเป็นตัวแปรแทรกซ้อน ที่ทำให้กฎหมายมีความล่าช้าได้ ซึ่งถ้าจัดให้มีการเลือกตั้ง ก็คาดว่าจะได้ส.ว. ปลายปี 2567 เสนอเข้ากระบวนการนิติบัญญัติในปี 2568 เพื่อทำประชาพิจารณ์ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณา คาดว่า จะประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ได้ภายในปี 2569