เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อเร็วๆนี้ มีความเห็นว่า บทบาทของสกศ.ในปี 2567 งานหลักคือ ชี้เป้า ยกระดับและร่วมขับเคลื่อน โดยในส่วนของการชี้เป้า นั้นเนื่องจากมองว่า สกศ.น่าจะเป็นหน่วยงานพยากรณ์การศึกษาของประเทศตามไตรมาสได้เช่นเดียวกับกระทรวงการคลังที่มี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่พยากรณ์ด้านการเงินของประเทศเป็นไตรมาส เพราะฉะนั้น สกศ.ก็จะมีบทบาทในการชี้เป้าการศึกษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมไปถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้มองเห็นภาพการศึกษาของประเทศ ผ่านงานวิจัยและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ หนึ่งที่เรียกว่า VUCA World ความผันผวนและความไม่แน่นอน ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และดิจิทัลดิสรัปชั่น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ มีกฎหมายการศึกษาเกิดขึ้นใหม่หลายฉบับ มีเรื่องแอคทีฟเลินนิ่ง ดังนั้นจึงต้องคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะสร้างคนที่มีคุณภาพ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ ตรงนี้เป็นปัญหา เพราะปัจจุบันยังใช้หลักสูตรแกนกลาง ซึ่งไม่มีความยืดหยุ่น และเมื่อเข้าปีที่ 4 เข้าสู่สถานการณ์BANI World ซึ่งมีความซับซ้อน เปราะบาง คาดการณ์ไม่ได้ เกิดสิ่งที่ไม่คุ้นชินขึ้นในประเทศ และปีนี้เกิดสถานการณ์ใหม่ ที่ องค์การสหประชาชาติพูดถึง คือ ภาวะโลกเดือด สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อโลกการงานและอาชีพ ซึ่งการศึกษาก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน ดังนั้น สกศ.จึงต้องทำหน้าที่ชี้เป้า เป็นเข็มทิศการศึกษา มุ่งพัฒนาทักษะให้ผู้เรียน เรียนที่ชอบ ทำงานที่ใช่ใช้ชีวิตให้มีความสุข
ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดเน้นสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2567 คือต้องเร่งผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์ข้อห่วงใยของประชาคม พัฒนานโยบายการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มกลางธนาคารหน่วยกิต สร้างทักษะจำเป็นแห่งอนาคต สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่านบทบาทของ อาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) การขับเคลื่อนงานคุณวุฒิแห่งชาติ ขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการพัฒนาเด็กปฐมวัย พัฒนาระบบผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ตามแนวทางคุณวุฒิแห่งชาติ และจัดทำแนวทาง พัฒนาผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศ โดยจะจัดทำแนวทางเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อให้หน่วยงานจัดการศึกษา ดำเนินการตามแผนที่สกศ. วางไว้และที่สำคัญที่สุดคือการยกร่างฉากทัศน์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษา พ.ศ.2570 ซึ่งผ่านความเห็นของจากคณะกรรมการสภาการศึกษา ที่มีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชินชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
“โลกมีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกปี ถ้าเราจัดการศึกษาแบบเดิม จะไม่สามารถพยากรณ์การศึกษาของประเทศไทยได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการของฉากทัศน์ของประเทศ โดยขณะนี้อัตราการเกิดลดลงเหลือ 5แสนกว่าต่อปี อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 หรือคิดเป็น กว่า 20 ล้านคน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัว การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยผลิตคนที่มีคุณภาพ พัฒนาประเทศ โดยจุดเน้นที่สกศ. กำหนดมาทั้งหมดนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างเสริมกำหนดทิศทางของประเทศให้ชัดเจน ”เลขาธิการสกศ. กล่าว