เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ โรงแรมอัลวาเรซ จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาชน(สพฐ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จัดการประชุมวิชาการ “พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยมี โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนล่างจำนวน 9 จังหวัดเข้าร่วม และนำเสนอผลงานนวัตกรรมรวมมากกว่า 200 รายการ

นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า ตนมองว่าการสอนด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นนวัตกรรมที่ส่งผลต่อนักเรียนได้มาก เนื่องจากเป็นการสอนแบบActive Learning ที่ฝึกกระบวนการคิดของเด็กทำให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก ทำให้เกิดการคิดและการต่อยอดซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมทั้งของครูและของนักเรียน ทำให้นักเรียนในอนาคตมีทักษะกระบวนการคิดชั้นสูงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคต สพฐ.คงต้องขยายผลการเรียนการสอนรูปแบบนี้ให้มากขึ้น หรืออาจจะนำหลักการสอนแบบนี้ไปลงในแพลตฟอร์มของ สพฐ. หรือ ส่งเสริมให้ศึกษานิเทศประจำเขตพื้นที่การศึกษาไปขยายผลให้ครูได้นำไปใช้ต่อไป เชื่อมั่นว่าการเรียนนการสอนแบบนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น

“การจัดการศึกษาของ สพฐ.ต้องอิงตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ‘เรียนดี มีความสุข’ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข และส่งผลต่อการลดภาระนักเรียน ลดภาระครู ลดภาระผู้ปกครอง ตามนโยบายได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระของครูและของนักเรียนจะทำให้ครูมีเวลาในการสอนให้เด็กเกิดกระบวนการคิดได้มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นคนคิดและมีเหตุผลมากขึ้น”นายศุภสินกล่าวและว่า ที่ผ่านมาสำนักพัฒนานวัตกรรมฯ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งสามารถสร้างนวัตกรรมครูในหลายโรงเรียน จนสามารถเป็นต้นแบบที่จะนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศได้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะการฝึกกระบวนการคิดเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนคิดเป็นถึงจะทำเป็น คนคิดได้คิดเป็นถึงจะคิดถูก ถ้าคิดไม่เป็นคิดไม่ได้ก็คิดไม่ถูก เมื่อคิดไม่ได้คิดไม่ถูกก็ทำไม่เป็น ก็แก้ปัญหาไม่เป็น เพราะฉะนั้นการคิดเชิงเหตุผลจะนำไปสู่การต่อยอดเชิงเหตุผล เชิงระบบได้อย่างแน่นอน

ผศ.ดร.วสันต์ชัย กากแก้ว รองอธิการบดี ฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งครั้งนี้เป็นการพัฒนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่เข้าร่วมจำนวน 59 โรงเรียน และมีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และนวัตกรรมนักเรียนมากกว่า 261 รายการ เพื่อเป็นการสรุปความรู้ที่ได้จากประสบการณ์การปฏิบัติจริง และนำเสนอความสำเร็จต่อสาธารณชน


รองอธิการบดีม.ราชภัฎสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานตามโครงการนี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษาที่ได้กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถณะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในปัจจุบันไปสู่การเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ภายใต้หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ด้วยการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพรวมทั้งส่งเสริมความ เป็นเลิศทางวิชาชีพของผู้บริหาร ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ใน 9 จังหวัดดังกล่าว และยังเป็นการตอกย้ำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ.ที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ว่า สามารถชับเคลื่อนให้เกิดผลได้จริงในระดับโรงเรียน โดยสะท้อนความสำเร็จเป็นความหวังให้เห็นได้ว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบให้พัฒนา การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้กับครูได้แล้วใน 4 ภูมิภาค และมีศักยภาพที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยมีเป้าประสงค์ให้นำไปสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียนที่มีความถนัดและความฉลาดที่แตกต่างกัน ผู้เรียนสามารถถักทอสร้างความรู้ได้เองจนถึงระดับหลักการ เกิดสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทุกด้าน รวมทั้งนำหลักการต่าง ๆ ไปใช้จนเกิดผลลัพธ์เป็นผลผลิต เช่น ชิ้นงาน โครงงาน นวัตกรรม จนส่งผลให้ผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนา เป็นนวัตกรได้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ และตอบสนองนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power ของประเทศได้เป็นอย่างดี


“จะเห็นว่า เด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 นี้ได้รับข้อมูลข่าวสารมากมาย ถ้าเด็กได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Stepsซึ่งเป็นกระบวนการคัดกรองข้อมูล เริ่มตั้งแต่ขั้นที่ 1 คือการรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะให้เป็นเรื่องเป็นราวในขั้นตอนที่ 2 ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ที่เป็นการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร แล้วเข้าสู่การสร้างสรรค์ นำเสนอในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และสังเคราะห์ก่อน แต่นำเสนอผ่านไปเลย จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้” ผศ.ดร.วสันต์ชัยกล่าวและว่า ดังนั้นการพลิกโฉมประเทศตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ต้องเริ่มที่การปรับกระบวนการเรียนรู้ ปรับการเรียนการสอน เพื่อให้คนมีกระบวนการคิดขั้นสูงที่เป็นระบบ ซึ่งครูเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ควรต้องขยายผลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments