ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ส่งหนังสือมาถึงหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการที่กระทำความผิดและให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีทุจริตในการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปีงบประมาณ 2553 ที่มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและตรวจรับครุภัณฑ์ที่ส่วนกลางทั้งหมด แล้วให้บริษัทส่งครุภัณฑ์ไปให้สถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครุภัณฑ์ที่สถานศึกษาไม่ต้องการ เนื่องจากไม่ตรงตามหลักสูตรที่สอนและไม่มีครูผู้สอน ที่สำคัญครุภัณฑ์ที่จัดซื้อจากส่วนกลางมีราคาแพงมากกว่าเท่าตัว นั้น เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรงจาก ป.ป.ช.นำโดย นายสุทธิพล พลศรีพิมพ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพชุมพวง ผู้ถูกกล่าวหาคนที่ 31ได้มายื่นเรื่องตามมาตรา 99 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ต่อนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)ผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งเพื่อขอทบทวนมติ ป.ป.ช.เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหามีข้อมูลพยานหลักฐานใหม่ เพื่อให้เลขาธิการ กอศ.ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ทบทวนเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหายื่นหลักฐานชี้แจงบ้าง ซึ่งทางผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าคำสั่งของ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อดีตเลขาธิการ กอศ.ที่ออกคำสั่งเมื่อปี 2553 เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย 2 และตามที่ป.ป.ช.ไต่สวนคดีดังกล่าวได้หมดอายุความไปแล้ว
ทั้งนี้ได้ทราบข่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะให้พิจารณาโทษเลย ก็ขอให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา((อ.ก.ค.ศ.)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ที่จะมีการประชุม อ.ก.ค.ศ. สอศ. วันนี้ พิจารณาข้อมูลใหม่เพื่อขอความเห็นชอบให้ เลขาธิการกอศ.ส่งหนังสือทบทวนไปที่ ป.ป.ช.เพื่อให้ผู้กล่าวหาได้แก้ต่างอีกครั้ง ส่วนป.ป.ช.จะรับพิจารณาหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช
“ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549ข้อ8(3)บัญญัติสาระสำคัญ ไว้ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคา ประกอบไปด้วย คณะกรรมการ 1 คน จากบุคลากรในหน่วยงานที่จัดหาพัสดุและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่มากกว่า 5 คน ในจำนวนนี้ ให้แต่งตั้งจากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการซึ่งตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำอย่างน้อย1คน ทั้งนี้ จะแต่งตั้งตามข้อเสนอของหน่วยงานที่จะจัดหาพัสดุทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ โดยให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานนั้นเป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่พัสดุในหน่วยงานนั้น เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งในการจัดซื้อพัสดุครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อพัสดุที่ดำเนินการโดย สอศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานนั้น ๆ เป็นคณะกรรมการประกวดราคา ซึ่งผมเป็นข้าราชการที่ประจำใน สอศ.ดังนั้น การแต่งตั้งให้ผมทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการประกวดราคาจึงมิชอบ และไม่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จึงทำให้ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในเรื่องการประกวดราคาซื้อพัสดุทางอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นการขาดองค์ประกอบทางกฎหมายที่จะดำเนินการ”นายสุทธิพล กล่าว
นายสุทธิพล กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 และชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 กรณีดังกล่าวจึงเห็นว่าเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน จนถึงวันที่คณะกรรมการไต่สวนได้รายงานการไต่สวน นับระยะเวลารวมเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นเหตุที่จะขยายระยะเวลาออกไปตามมาตรา 48 วรรค1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561ดังนั้น เมื่อผ่านพ้นระยะเวลา 2 ปี อันเป็นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากอายุความดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจึงมิได้เป็นเพียงกฎหมายภายในของ ป.ป.ช. แต่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ การดำเนินการของ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้จึงเป็นอันขาดอายุความและทำให้กระบวนการไต่สวนทั้งหมดเสียไปไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับเรื่องใด ๆ ได้ ซึ่งตนขออ้างคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริต ภาค 4 คดีหมายเลขดำ ที่ อท 178/2564 คดีหมายเลขแดง ที่ อท 106/2565 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขอเรียนว่าการกระทำใด ๆ ในเรื่องดังกล่าวนั้น พวกตนมิได้กระทำการใด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมิได้กระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 แต่อย่างใด และพวกตนมิได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินการเรื่องที่มีการแต่งตั้งที่มิชอบแต่อย่างใด และมิได้เข้าไปบงการให้ผู้มีหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามที่ต้องการเพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะหรือเพื่อให้ราชการเกิดความเสียหาย
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น พวกกระผมจึงขอความเมตตาจาก อ.ก.ค.ศ. สอศ.ได้โปรดพิจารณาว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่จะพิสูจน์ว่าพวกกระผมมิได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด และไม่ได้กระทำความผิดกฏหมายใด ๆ และโปรดมีมติให้มีการดำเนินการตามมาตรา 99 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาใหม่ต่อไป”กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาพูดทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมอ.ก.ค.ศ.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวานนี้ ได้มีมติไล่ออก ว่าที่ร้อยตรีชูชีพ อรุณเหลือ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ 1ใน 190 คนที่ถูกกล่าวหาทุจริต SP2