เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) มีความห่วงใยสุขภาวะของนักเรียนในโรงเรียน โดยมีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และให้ความสำคัญกับระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต รวมถึงการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว จึงได้ลงนามในหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เรื่อง แนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูมและการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน โดยสนับสนุนให้นักเรียนเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่ดี และมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีในทุกช่วงวัย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินกิจกรรมแนะแนวอย่างรอบด้านใน 3 ขอบข่าย ทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และส่วนตัวและสังคม รวมทั้งการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะที่จำเป็น เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามที่มีรายงานและข้อมูลนักเรียนที่มีความต้องการการดูแลในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต สพฐ. จึงได้ให้ความสำคัญในการแนะแนว และได้จัดส่งแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) และการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและปรับประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) และการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในพื้นที่เพื่อให้นักเรียนได้รับการแนะแนวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นพบตนเอง เสริมสร้างทักษะชีวิต ป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ประเมินพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน และได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ได้รับการดูแลช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมีความสุข

สำหรับแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) และการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย
1. กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม พัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนตามความสนใจความถนัดของแต่ละบุคคล ส่งเสริมให้นักเรียนค้นพบตนเอง ตัดสินใจเลือกและวางแผนเส้นทางการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ มีภูมิคุ้มกันและมีสุขภาวะที่ดี โดยสถานศึกษาควรดำเนินการร่วมกันทั้งผู้บริหารและครูแนะแนว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ กำหนดนโยบาย แนวทางการจัดกิจกรรมแนะแนวที่ชัดเจนครอบคลุมกิจกรรมแนะแนว 3 ขอบข่าย การแนะแนวด้านศึกษา ด้านอาชีพ และด้านส่วนตัวและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบท พร้อมทั้งส่งเสริมให้ครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา หรือครูประจำชั้น ได้พัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว การให้การปรึกษาและดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียน โดยพัฒนางานแนะแนวร่วมกับภาคีเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง และกำกับ ติดตาม หนุนเสริม การแนะแนวในสถานศึกษาให้เป็นปัจจุบันและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ครูแนะแนว ต้องดำเนินการจัดบริการงานแนะแนว 5 ด้าน และกิจกรรมแนะแนว 3 ขอบข่าย พร้อมให้การดูแล ส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขปัญหา และให้การปรึกษานักเรียนอย่างเหมาะสม รวมทั้งประเมินความเสี่ยง จับสัญญาณอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นหรือมีแนวโน้มส่งผลกระทบกับนักเรียน โดยทำงานร่วมกับครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้น ผู้บริหาร ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา สร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานแนะแนวที่ก่อเกิดประโยชน์และความปลอดภัยของนักเรียน

2. กิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมนักเรียนเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม ผ่านการทำกิจกรรมหรือกระบวนการที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในด้านต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็ได้ โดยจัดให้มีบรรยากาศอบอุ่น เป็นมิตร ปลอดภัย เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน นักเรียนและเพื่อนนักเรียน หากนักเรียนรู้สึกคุ้นเคยและไว้วางใจครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นแล้ว นักเรียนมีแนวโน้มที่จะกล้าพูดคุยปรึกษาปัญหาของตนเองกับครูมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีและยังเป็นอีกกิจกรรมที่ครูจะได้แนะแนวช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการในแต่ละด้าน ทั้งด้านการเรียน อารมณ์ สังคม และสุขภาวะให้ดีขึ้น โดยดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ 1) การจัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) เป็น 10 นาทีทองของครูและนักเรียน โดยครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้น จัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วง 10 นาทีแรกก่อนเข้าเรียนเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวันก่อนเริ่มเรียนตอนเช้า รวมทั้งครูประจำวิชาจัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) ก่อนเข้าเรียนในแต่ละชั่วโมงเรียน จัดกิจกรรมให้มีความหลากหลาย เป็นประโยซน์เชื่อมโยงกับการเรียนและชีวิตประจำวัน 2) จัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) ในชั่วโมงแนะแนว เพื่อมีเวลาในการจัดกิจกรรมได้มากขึ้นในหัวข้อและประเด็นที่นักเรียนสนใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมแสดงความประสงค์และเป็นผู้ออกแบบ เป็นผู้นำการจัดกิจกรรม หาแนวทาง หาคำตอบสู่การป้องกัน แก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกัน และ 3) จัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) แบบ Anywhere Anytime โดยจัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) หลากหลายลักษณะ ทั้งในลักษณะเป็นทางการและไม่ทางการ มีความยืดหยุ่น หากนักเรียนมีปัญหาหรือต้องการการปรึกษาแบบเป็นส่วนตัว มีความจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถพูดคุย ปรึกษาครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้น และครูแนะแนว ได้ทุกที่ ทุกเวลาด้วยความเหมาะสมและปลอดภัย

ส่วนประเด็นและหัวข้อสำคัญในการจัดกิจกรรมโฮมรูม (Homeroom) นั้น จะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์กับนักเรียนในด้านต่างๆ อาทิ 1) การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักเรียนและครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูประจำวิชา ในการแลกเปลี่ยนพูดคุยข้อมูลการเรียนในชั้นเรียน หรือเฉพาะรายวิชา ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต เป็นต้น 2) การแจ้งข่าวสารประจำวันของโรงเรียน รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ประกาศ แจ้งข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสถานศึกษาและระดับชั้น เช่น กำหนดการสอบ การแข่งขันกีฬาสี การจัดนิทรรศการ การจัดพิธีไหว้ครู ผลการประกวด หรือการเข้าร่วมแข่งขันต่าง ๆ เป็นต้น 3) การแนะแนว Coaching การศึกษาที่ทันสมัย 4) การแนะแนว Coaching อาชีพที่สอดคล้องกับโลกอาชีพปัจจุบัน 5) แนะแนว Coaching ด้านส่วนตัวและสังคมรวมทั้งเรื่องการดำเนินชีวิต 6) ให้นักเรียนบันทึกความดี ความภูมิใจของตนเอง 7) การจัดการและแบ่งสรรเวลา ความตรงต่อเวลา 8) การนำข่าวจากสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ Website หรือ Social Media มาสะท้อนคิดอย่างสร้างสรรค์ และ 9) จัดกิจกรรมตามความสนใจ ความจำเป็นและสอดคล้องกับประโยชน์ของนักเรียน

“นอกจากนี้ กิจกรรมโฮมรูมยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนานักเรียน ตามแนวทางระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งการที่นักเรียนจะเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีลักษณะที่พึงประสงค์ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน โดยเฉพาะผู้บริหาร และครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรหลักที่จะให้การดูแล ติดตาม แนะนำ ส่งเสริม พัฒนา พร้อมทั้งให้กำลังใจ และเฝ้าระวังพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะส่งผลให้นักเรียนเกิดความไว้วางใจ มีความอบอุ่น มีความสุขในขณะที่อยู่ภายในโรงเรียน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน และได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านสมวัยต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments