เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เขียนไว้ชัดเจนว่าให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จัดการศึกษาได้ใน 3 รูปแบบ คือ การจัดการศึกษาในระบบ การจัดการศึกษานอกระบบ และการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวว่า การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้การจัดการอาชีวศึกษาดำเนินการอย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์ประเทศ และนักศึกษาเมื่อเรียนจบออกมาแล้วต้องมีงานทำ ดังนั้นการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีจึงเป็นการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของประเทศมากที่สุด โดยขณะนี้ตนได้มอบนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)สอศ.)จัดการศึกษาระบบทวิภาคทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)ทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีอยู่ 878 แห่ง แบ่งเป็นอาชีวศึกษาของรัฐ 434 แห่ง เอกชน 444 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี จำนวน 541 แห่ง แบ่งเป็นสถานศึกษาภาครัฐ จำนวน 413 แห่ง สถานศึกษาเอกชน จำนวน 128 แห่ง โดยมีสถานประกอบการที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี จำนวน 12,673 แห่ง มีนักศึกษาในระบบทวิภาคี จำนวน 154,387 คน คิดเป็นร้อยละ 16 แบ่งเป็นนักศึกษาภาครัฐ จำนวน 135,709 คน นักศึกษาเอกชน จำนวน 18,678 คน ทั้งนี้ สอศ.ได้มีนโยบายให้ทุกสถานศึกษาในสังกัดเปิดสอนระบบทวิภาคี ทั้งระดับ ปวช.และปวส.จึงคาดว่าจะมีนักศึกษามาเรียนระบบทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า  แผนการดำเนินงานของสอศ.ในปีงบประมาณ 2567 คือ 1.ส่งเสริมการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี มีความสุข มีอนาคต จบแล้วมีงานทำ 2.ส่งเสริมและสนับสนุนจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีทุกสถานศึกษา 3.ผนึกกำลังร่วมกับกลไกคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(อ.กรอ.อศ.) 4.ขยายและยกระดับความร่วมมือกับสถานประกอบการ และ 5.พัฒนาครูนิเทศ และครูฝึกในสถานประกอบการ ทั้งนี้การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีสอดคล้องกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการที่จะส่งเสริมให้เด็กมีงานทำ มีรายได้ระหว่างเรียนและเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้วมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์

“ผมต้องการให้สถานศึกษาเป็นมากกว่าสถานศึกษา ไม่ใช่สอนอย่างเดียว สถานศึกษาต้องเป็นทั้งผู้ประกอบการ เป็นแหล่งจัดหางาน เป็นศูนย์ฝึกให้กับเด็กเพื่อส่งต่อเด็กให้มีรายได้ระหว่างเรียน”นายยศพล กล่าวและว่า ส่วนโครงการอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ นั้น ขณะนี้มีอยู่ 88 แห่ง ส่วนใหญ่จะเน้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งรุ่นแรกมีเด็กอยู่ในระบบเกือบ 5,000 คน ส่วนรุ่นที่2 ต้องรอมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนว่าจะสามารถรับได้จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากงบประมาณที่จะมาดำเนินการตามโครงการนี้เป็นงบฯกลาง มาช่วยเด็กที่ขาดโอกาส ด้อยโอกาส เข้ามาเรียนเพื่อลดความเหลี่อมล้ำทางการศึกษา

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments