เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (coaching) และเป้าหมายชีวิต ซึ่งมีการหารือการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ โดย มี ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้ทราบว่าแต่ละหน่วยงานมีงานอะไรบ้าง เข้าใจถึงข้อจำกัดของแต่ละหน่วย โดยที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีภาพให้เห็นว่าปี 2567 จะมีการปรับปรุงอย่างไร ปี 2568 จะทำในรูปแบบใดต่อไป วันนี้จึงเสนอให้ทุกหน่วยงานลองนำแนวทางของ สพฐ.มาเป็นตัวอย่าง ออกแบบวางแผนงานจนเกิดวิธีการและผลสำเร็จ ค้นหาปัญหาทั้งในส่วนของครู นักเรียน และผู้ปกครองให้เจอ แล้วนำประเด็นนี้ไปหารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ช่วยดูในเชิงภาพรวมของกระทรวง หาเครื่องมือที่สามารถตรวจเจอกลุ่มคนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้วนำกระบวนการมาเริ่มใช้ นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ของ ศธ. ด้วยการบอกสังคมให้ได้รู้ว่าเรามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ปลุกสังคมให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพจิตของผู้เรียนและสถานศึกษา สร้างค่านิยมทางการศึกษาร่วมกัน
“ทุกวันนี้ครูมีภาระงานที่หนักมาก บวกกับความคาดหวังของผู้ปกครองที่สูง ขณะที่ลูกหลานถูกกดดันจากหลายด้าน ดังนั้นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทำขึ้น จึงต้องสร้างความรับรู้กับสังคมให้เกิดการมีส่วนร่วม คิดนอกกรอบในการพัฒนางานให้เข้าใจง่าย เข้าถึงได้หลากหลายช่องทางให้เกิดการรับรู้มากที่สุด สิ่งสำคัญต้องไม่เพิ่มภาระให้ครู และไม่เพิ่มภาระด้านงบประมาณ” นายสิริพงศ์กล่าวและว่า ในส่วนของการจัดทำสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ขอให้มองเรื่องใกล้ตัวที่กำลังถูกพูดถึงในสังคมไทย ที่สามารถกระตุกความรู้สึกว่าต้องกลับมาดูแลผู้เรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่จะต้องเติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งฝากแต่ละหน่วยงานทบทวนเนื้อหาข้อมูลมานำเสนอด้านมุมมองความคิดเห็นของแผนการดำเนินงาน เพื่อลงรายละเอียดมากขึ้นในการประชุมในครั้งถัดไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรับฟังการนำเสนอแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งมีแผนงานที่เด่นชัด อาทิ โครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัย, HERO-V ระบบคัดกรองผู้เรียน, School Health HERO เฝ้าระวังสุขภาพจิตนักเรียน, ค่ายพลังใจ นักเรียนไทย ล้มได้ ลุกเป็น, โครงการเด็กไทย Full HD (High ความดี), โรงเรียนแห่งความสุข Happy School Happy Student ซึ่งจะเน้นการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาสุขภาพจิตของผู้เรียน เน้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างค่านิยมในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ผ่านสื่อที่สะดวกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่าย สร้างการรับรู้ การตื่นตัวเกี่ยวกับการบริหารสุขภาพจิตผู้เรียน โดยจะประชุมครั้งถัดไปในวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566