เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) มีความห่วงใยต่อสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีน้ำบ่าไหลหลาก ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร โดยในหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำสูง รุนแรง และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบกับสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้แจ้งให้ส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัดติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และหินถล่มที่อาจเกิดขึ้น โดยวางมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุโดยเร่งด่วน

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้รับรายงานล่าสุดพบว่า มีสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ในพื้นที่ 21 จังหวัด จำนวน 75 โรงเรียน รวม 26 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีนักเรียนที่ประสบภัย จำนวน 716 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 59 คน อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 44 แห่ง และครุภัณฑ์เสียหาย 24 รายการ (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 ตุลาคม 2566) ตนจึงมีข้อสั่งการให้ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรของเขตพื้นที่ฯ ดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลช่วยเหลืออย่างรอบด้านเต็มกำลัง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า  สพฐ. ได้มีการวางมาตรการเยียวยาสำหรับโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการเยียวยาระยะสั้น จะมีการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และประสานงานแบบเรียลไทม์ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยให้เน้นความปลอดภัย มีการจัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็น รวมถึงสำรวจและซ่อมแซมอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ ให้มีความพร้อมต่อการรับสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลใน MOE Safety Center และศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และมีการมอบถุงยังชีพ (เครื่องอุปโภคบริโภค) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครูและบุคลากรฯ โดยมีนักเรียนได้รับถุงยังชีพแล้ว จำนวน 456 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 260 คน ส่วนครูและบุคลากรฯ ได้รับถุงยังชีพแล้ว จำนวน 22 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 37 คน ซึ่ง สพฐ. จะเร่งดำเนินการให้ผู้ประสบภัยทุกคนได้รับถุงยังชีพได้ครบถ้วนโดยเร็ว

“สำหรับมาตรการเยียวยาในระยะยาว จะมีการสำรวจความเสียหายของโรงเรียนและเขตพื้นที่ฯ รวมถึงสำรวจความเสียหายของบ้านพักอาศัยของนักเรียน ครูและบุคลากรฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) จิตอาสา และให้เขตพื้นที่ฯ รายงานผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ ตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. โดยกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. มีความห่วงใยสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรฯ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศ จึงได้ประสานการทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากโรงเรียนหรือเขตพื้นที่ฯใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. เพื่อได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือเยียวยาต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments