เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวเปิดการประชุม International Conference on Language and Education” ครั้งที่ 7 พร้อมร่วมอภิปรายแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศด้านการศึกษาพหุภาษา รวมทั้งแนวคิดเรื่องบทบาทที่สำคัญของภาษาในการบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาและรับรองคุณภาพการเรียนรู้ โดยมี Ms.Soohyun Kim (ซู ฮยอน คิม) ผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯMs.Debora Comini (เดโบรา โคมีนี) ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศสมาชิก อาทิ กัมพูชา ฟิจิ นาอูรู เนปาล ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเนื่องจากเด็กนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม คลอบคลุมถึงนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลรวมถึงเด็กชาวเขาชนเผ่าต่าง ๆ นักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ และลูกหลานของคนงานอพยพ ทำให้อัตราเด็กตกหล่น(Learning Loss) ลดลง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงปัญหาในการเรียนรู้ภาษาไทยจากเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จึงได้พัฒนาสื่อการสอน อาทิ สื่อการอ่านเพิ่มเติม สำหรับการพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาไทย ในระดับนักเรียนปฐมวัย และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้แก่เด็กนักเรียนชาวมลายู ได้เรียนรู้ผ่านสื่อการสอนที่มีภาพประกอบที่สวยงาม สามารถสื่อสารถึงความหมายของคำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ครูสามารถนำมาถ่ายทอด และให้ความรู้ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาไทยในชุมชนพหุวัฒนธรรมและพหุชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งโครงการที่นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการ “การศึกษาพหุภาษา มลายู–ไทย” เปิดโอกาสให้นักเรียนต่างถิ่น ได้เรียนรู้การอ่านและเขียนภาษาไทยโดยใช้ภาษามลายูท้องถิ่นก่อน แล้วเปลี่ยนไปใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรพิเศษ ซึ่งนักเรียนที่ศึกษาหลักสูตรนี้ ได้รับรางวัล UNESCO King Sejong (เซ จอง) Literacy Prize ปีค.ศ. 2016 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของหลักสูตร
“ในนามของกระทรวงศึกษาธิการไทย ขอขอบคุณความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเป็นสะพานเชื่อมโยงเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะเด็กที่มีภูมิหลังที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธ์ุและชนกลุ่มน้อยให้เข้าถึงการศึกษาอีกครั้ง” รมช.ศธ. กล่าว
การประชุม International Conference on Language and Education จัดโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานยูเนสโก (UNESCO) กรุงเทพฯ Asia-Pacific Multilingual Working Group (MLE WG) ยูนิเซฟ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จ และข้อท้าทายในการแก้ไขปัญหาด้านความต้องการทางภาษาของผู้เรียน สำหรับหัวข้อในการประชุมในปีนี้ คือ “Multilingual education for transformative education system and resilient futures” ซึ่งครอบคลุมการสร้างหลักประกันแก่กลุ่มเด็กเปราะบาง เด็กที่มีภูมิหลังที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธ์ุและชนกลุ่มน้อย สามารถเข้าถึงการศึกษาทุกระดับ