เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดแถลงข่าวกรณี เด็กชายอายุ 14 ก่อเหตุ ใช้อาวุธปืนยิงคนในห้างดัง เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บหลายราย ว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต และครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน ซึ่งหลังจากทราบเหตุ ศธ.ก็ได้มีการติดตามสถานการณ์ โดยจากการตรวจสอบ เด็กที่ก่อเหตุ เป็นนักเรียนศูนย์การศึกษาทางเลือก เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ภายใต้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งศธ. มีหน้าที่อนุมัติการเรียนการสอน โดยพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลาง ส่วนรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละแห่งจะกำหนดร่วมกัน โดยโรงเรียนลักษณะดังกล่าว มีอยู่กว่า 2,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีอยู่กว่า10 แห่ง การเรียนการสอนจะแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น เน้นการจัดการเรียนการสอนสู่ความเป็นเลิศ หรือกลุ่มที่มีเงื่อนไขที่ผู้ปกครองต้องจัดการเรียนการสอนกันเอง

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ต้องมีการถอดบทเรียน ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร ศธ.เองยังไม่ด่วนสรุป และยังไม่ด่วนโทษว่าเป็นความผิดของผู้ใด หน่วยงานใด หรือเป็นความผิดของสิ่งใด แต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ การหาเหตุจูงใจเพื่อถอดบทเรียน แล้วนำมาสู่การป้องกันและแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯเขต 1(สพม.กท.1) ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เด็กคนดังกล่าวมีปัญหาทางสภาพจิต แต่ก็ไม่สามารถที่จะฟันธงได้จากคำให้การของผู้บริหารเพียงคนเดียว และยังไม่สามารถโทษว่าเป็นความผิดของสถานศึกษาที่ประกอบการเรียนการสอน แต่วันนี้เมื่อผู้เยาว์ก่อเหตุ ก็เป็นเรื่องที่ศธ.ต้องทำความเข้าใจ ว่าเด็กที่ก่อเหตุ เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนตัวมองว่าเป็นโอกาส ที่เราจะต้องมาถอดบทเรียน หามาตรการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก เพราะในความเป็นจริงเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในทุกระบบการศึกษา ซึ่งมีการพูดคุยในเรื่องการดูแลสภาพจิตใจเด็กในระบบทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งต้องยอมรับว่า เด็กและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในสภาวะที่เครียด และกดดันเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาศธ. พยายามอบรม ให้ความรู้ หากิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายเพื่อลดทอนความเครียด

โฆษก ศธ. กล่าวต่อว่า ทางเขตพื้นที่ฯยังได้รายงานว่า มีการสอบถามผู้ปกครองเบื้องต้น แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากเท่าไรนัก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิทธิของผู้ปกครอง ที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล ในส่วนของศธ. ก็ทำหน้าที่แสดงความห่วงใย และได้ลงพื้นที่ซึ่งจากข้อมูล ก็พบว่า โรงเรียนดังกล่าว ไม่ได้ขอจัดตั้งเป็นโรงเรียน แต่เป็นศูนย์การเรียน ที่ค่อนข้างมีความพร้อม มีนักเรียนกว่า 800 คน ครูผู้สอนกว่า 115 คน อัตราครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 1:7 ถือว่าให้ความเข้มข้นอัตราครูและนักเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นโรงเรียนที่มีค่าเทอมค่อนข้างสูง อย่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มีค่าเล่าเรียนกว่าเทอมละกว่า 1 แสนบาท และถ้าเป็นหลักสูตรภาษอังกฤษจะมีค่าเล่าเรียนกว่า 3 แสนบาท แต่จะแตกต่างกับโรงเรียนนานาชาติที่จะมีกฎระเบียบเข้ามากำกับดูแล และทราบว่าโรงเรียนดังกล่าวมีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  อดีตรัฐมนตรีว่าการศธ.เป็นหมอจิตวิทยา เป็นหนึ่งในผู้บริหารโรงเรียน แต่เบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่หากจะมีการพูดคุยคงเป็นในระดับผู้ใหญ่ ซึ่งเข้าใจว่าโดยส่วนตัวนพ.ธีระเกียรติ เองก็เป็นคนเก่ง มีความรู้มาก และคงกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนรายละเอียดต่างๆ ยังไม่อยากให้ด่วนสรุป คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม

นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กก่อเหตุมาจากการติดเกม ส่วนตัวก็ไม่อยากให้ด่วนสรุปเช่นนั้น แต่สิ่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น แต่ควรจะเป็นผู้ปกครองและคนในสังคมทุกคน ต้องเข้ามาช่วยกัน ดูแลการเข้าถึงสื่อทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะเกม แต่รวมถึงภาพยนตร์ซึ่งจะมีเรตมาตรฐานกำกับอยู่ ดังนั้นแต่ละครอบครัว ควรจะให้คำแนะนำเยาวชนในการเข้าถึงสื่อแต่ละประเภทตามช่วงอายุที่กำหนด เพราะบางครั้งผู้ปกครองเองอาจมีการหลงลืม สำหรับการปรับหลักสูตร นั้น รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายอยากให้เน้น ในเรื่องเรียนดี มีความสุข สร้างทักษะให้เด็กได้รับการแนะแนวทั้งจากครอบครัวและครู ให้เขาเรียนไปแล้วสามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันยังเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพจิตโดยได้ ทำบันทึกข้อตกลงกับกรมสุขภาพจิต ให้เข้ามาช่วยให้ความรู้กับบุคลากร ให้รู้วิธีติดต่อสื่อสารสังเกตอาการเด็กเพื่อจะได้สื่อสารกับผู้ปกครองอย่างตรงไปตรงมา โดยก่อนหน้านี้ยังพูดถึงโรงเรียนของผู้ปกครองที่จะให้คำแนะนำสนับสนุนการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็กอย่างมีความสุข ในส่วนของคดีความ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากว่า ผู้ปกครองไม่มีความสามารถในเรื่องของการต่อสู้คดีและปกป้องสิทธิ ศธ.ก็อาจต้องเข้าไปช่วยดูแล แต่โดยหลักการเรื่องของกฎหมายก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศธ.มีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดการศึกษา

ดร.นิยม กล่าวว่า จากการสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียน(สถาบัน Essence) ทราบว่าช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนเด็กก็ไปออกทำธุระส่วนตัว เด็กมีประวัติการรักษา แต่ทางโรงเรียนจะมีนักจิตวิทยาประจำของโรงเรียนแล้วก็มีระบบการสื่อสารผู้ปกครองตลอดเวลา มีระบบดูแลความปลอดภัย มีบัตรสแกนก่อนเข้าห้องเรียน แต่ละห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 20 คน ก็ไม่ได้แออัด และก็มีครูเพียงพอต่อการเรียนการสอน ซึ่งผู้ปกครองของเด็กเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  ลูกเรียนที่นี่2 คน

ผอ.สพม.กท1 กล่าวว่า ศูนย์การเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนทางเลือก เรียกว่าศูนย์การเรียน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สมาคมหรือสถานประกอบการสามารถเปิดศูนย์การเรียนได้ เป็นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยยืดหยุ่นทั้งวิชาเรียน ทั้งเนื้อหาเวลา และการวัดผลประเมินผล ซึ่งศูนย์การเรียนนี้ก็เรียนแบบเข้มข้นอยู่ อย่างไรก็ตาม ตามอำนาจของเขตพื้นที่ฯ คือ ควบคุมเรื่องวิชาการเรื่องความปลอดภัยเป็นโรงเรียนที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ต้องจัดการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ รวมถึงความปลอดภัย และการดูแลเอาใจใส่

“เมื่อวานนี้ผมได้ไปที่โรงเรียนเจอผู้อำนวยการโรงเรียน ได้เน้นย้ำกับโรงเรียน ถึงความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องตรวจการพกพาอาวุธ แนะนำให้เขาพูดคุยกับเจ้าของตึกเรื่องการดูแลว่ามีอะไรซุกซ่อนอะไรเข้ามาบ้าง และสิ่งที่จะต้องเสริมคือเรื่องสภาพจิตใจที่จะต้องมี การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูที่ปรึกษา ผู้ปกครองให้สำรวจตรวจสอบให้ถึงนักเรียนถ้ามีเหตุสงสัยอะไรก็ให้ผู้ปกครองรับเด็กออกไปดูแลอยู่ในความอุปการะช่วยกันรักษาให้มั่นใจก่อนว่าสามารถเข้ามาเรียนได้ ซึ่งแต่ละศูนย์การเรียนรู้ต้องเพิ่มมาตรการตรงนี้ให้มากขึ้น ส่วนเรื่องการถอดถอนใบอนุญาตศูนย์การเรียนนี้ได้หรือไม่นั้น ตอนนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ใช่ความผิดของศูนย์การเรียนรู้ ไม่ได้สอนให้เด็กไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีส่วนในการกระทำของเด็ก ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงที่จะถอดถอนใบอนุญาตได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอยู่ในความดูแลของสหวิชาชีพ  ส่วนที่เราได้กำชับคือการบริหารจัดการดูแลความปลอดภัย ร่างกายและจิตใจของเด็กให้มากขึ้นเพื่อไม่เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก”ดร.นิยม กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments