เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) นำผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน นักศึกษา เข้าพบ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสที่สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับรางวัลในงาน Indonesia Inventors Day 2023 (IID 2023) โดยตัวแทนสถานศึกษา จำนวน 5 แห่ง นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์อาชีวศึกษาเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ ในงาน Indonesia Inventors Day 2023 (IID 2023) ระหว่างวันที่ 16- 20 กันยายน 2566 ณ Werdhi Budaya Art Center เมืองเดนปาซาร์ บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการและในนามประชาชนคนไทยทุกคน ขอขอบคุณและชื่นชม น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา พร้อมคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ ที่ได้ช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และขอให้ภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ อย่าย่อท้อ และขอให้ต่อยอดผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม นำไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยในประเทศ เพิ่มคุณค่าให้กับผลงาน และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เชื่อมั่นและศรัทธาในฝีมือของตน ทำดีต่อไป และพัฒนาต่อเนื่อง
สำหรับงาน Indonesia Inventors Day 2023 (IID 2023) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดแผนงานการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์อาชีวศึกษาเข้าร่วมประกวดและจัดแสดง โดยมีประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดจำนวน 32 ประเทศ และมีผลงานทั้งหมด จำนวน 412 ผลงานที่เข้าร่วมการประกวดใน ครั้งนี้ ซึ่งตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประกวดฯ จำนวน 18 หน่วยงาน ตัวแทนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 5 แห่ง เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว และได้รับรางวัล The Best Business Performance Excellence Award ได้แก่ 1.) วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี กับผลงาน “โอ่งคั่วเมล็ดแบบโรตารี่ระบบอัตโนมัติ” ซึ่งได้รับรางวัล Gold Madal ได้รับรางวัล SPECIAL PRIZE on Stage จาก Korea Invention Promotion Association 2.) วิทยาลัยเทคนิคลำปาง กับผลงาน “เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับชุมชน” ได้รับรางวัล เหรียญทอง และรางวัล WIIPA SPECIAL AWARD และผลงาน “เครื่องผสมเกสรดาวเรือง” ได้รับรางวัลเหรียญทอง 3.)กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง กับผลงาน “ชุดเครื่องประดับถมนคราร่วมสมัย” ได้รับรางวัล Gold Madal และรางวัลWIIPA SPECIAL AWARD 4.) วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี กับผลงาน “มิเตอร์ ไอโอที” ได้รับรางวัล Gold Madal และรางวัล MyRIS SPECIAL AWARD จาก MALAYSIAN RESEARCH & INNOVATION SOCIETY และ 5.) วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา กับผลงาน “หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤต-อัมพาต Walking robot for rehabilitation of paralysis patient” ได้รับรางวัล เหรียญทอง Gold Prize Indonesia Inventors รางวัลพิเศษเหรียญทองจาก The Moroccan delegation of inventor and EMSL group ประเทศโมร็อกโก รางวัลพิเศษเหรียญทองจาก Special Award จาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ประเทศไต้หวัน และรางวัลพิเศษ Special Award จาก Sepuluh Nopember Institute of Technology Surabaya สาธารณรัฐอินโดนีเซีย