เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ.มอบหมายให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2566 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษา และกรรมการด้านต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีสาระการประชุม เรื่องผลการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2567 , การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Otago ประเทศนิวซีแลนด์,การเตรียมความพร้อมการจัดงานประชุมวิชาการ Thailand – Japan Student Science Fair 2023 (TJ – SSF 2023),กรอบการจัดทำเอกสารรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประกอบการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , การดำเนินงานด้านบุคลากร ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย,การขับเคลื่อนนโยบายและการสื่อสารสร้างความเข้าใจการเตรียมความพร้อมการประเมิน PISA 2025,การได้รับอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย และพิษณุโลก ,ครูผู้ได้รับรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2566 จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี และรายชื่อครูผู้ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา,การคัดเลือกครูเข้าร่วมการฝึกอบรมโครงการ Nuclear Technology seminar 2023 ,ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ OBEC Youth Camp เป็นต้น
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ตนได้ฝากให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯได้กำหนดแนวทางส่งเสริมความก้าวหน้าของครูและผู้บริหารโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยรวมถึงการประเมินคงวิทยฐานะ ควรกำหนดให้สอดคล้องกับภาระงานโรงเรียน ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับครูและนักเรียน การศึกษาแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ การจัดทำเกณฑ์การคัดเลือกครูและผู้บริหาร ที่ตรงตามเป้าหมายโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยต้องคำนึงถึงกระบวนการคัดกรองให้ได้ครูและผู้บริหารที่ เก่งและมีสุขภาพจิตที่ดี ควรมีสถิติด้านต่างๆ ของบุคลากร เช่น ระดับวิทยฐานะ อายุ การศึกษา เพื่อจัดให้มีระบบ coaching ช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ และสิทธิอื่นๆ
ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือสุขภาพในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในโรงพยาบาล รุ่นที่ 2 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี ผู้อำนวยการบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.)และ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้แทน จาก 245 เขตพื้นที่การศึกษาฯ ร่วมประชุม ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติที่ดีให้ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพในศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมบุคลากรทางการแพทย์ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการดูแลและจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ ในศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ซึ่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหรือผู้ที่รับผิดชอบด้านงานการจัดการเรียนสำหรับเด็กใน รพ. คือคนที่สำคัญต้องมีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ เจตคติที่ดี รวมถึงการให้ความรู้ การสร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนความรู้ทีมบุคลากรที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการให้โอกาส สร้างโอกาสเติมเต็มให้กับเด็กของเราในการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ ซึ่งการดำเนินการของการศึกษาพิเศษ เป็นการให้การศึกษาสำหรับเด็กในโรงพยาบาลเป็นศูนย์การเรียน สำหรับเด็กที่ไม่มีโอกาสได้มาเรียน เนื่องจากสภาพร่างกาย จิตใจ รวมถึงสุขภาพต่างๆ ที่ต้องมารักษาตัวในโรงพยาบาล ปัจจุบันระบบการอยู่ในโรงพยาบาลเป็นที่สมบูรณ์แล้ว เหลือแค่การส่งต่อเข้าสู่โรงเรียน และเมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียนยังต้องการประคับประคองจากครู ที่ต้องดูแล เติมเต็มด้วยศักยภาพซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทาย เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตของตนเอง และสิ่งเหล่านี้เองเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน”เพราะความสำเร็จในการพัฒนาการของเด็ก คือ รางวัลของการทำงานของเรา”