เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จัดการประชุมและเสวนาวิชาการขับเคลื่อนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ร่วมเสวนาจากภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมด้วยข้าราชการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมและเสวนาวิชาการ ในระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566
โดย นายสุรพล ทิพย์เสนา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บรรยายพิเศษ เรื่อง “เจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566” เพื่อสร้างการรับรู้ให้ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดได้มีความรู้ ความเข้าใจในทิศทางเดียวกันในการจัดการรียนรู้ ตาม พรบ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 นายสุรพล กล่าวว่า การเปลี่ยนจากคำว่า “การศึกษา”เป็น “การเรียนรู้” เพราะการศึกษาเป็นเพียงเฉพาะการศึกษาในห้องเรียน แต่การเรียนรู้นั้นจะครอบคลุมทุกช่วงวัย การจัดลำดับตามความสำคัญในมาตรา6 จึงกำหนดให้กรมมีหน้าที่ จัด ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นลำดับแรก เทียบได้กับการศึกษาตามอัธยาศัย เน้นความพร้อมของผู้เรียนเป็นหลัก มีวิธีการจัดการเรียนรู้ไม่มีหลักสูตร ไม่มีห้องเรียน ผู้เรียนเลือกเรียนรู้ได้ตามความสะดวก ความต้องการของผู้เรียนร่วมกับภาคีเครือข่าย แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อจัดการเรียนรู้ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเทียบได้กับการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคล ทักษะ ความเชี่ยวชาญ เพื่อประกอบอาชีพ พัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคม ชุมชน มีจุดประสงค์ที่มุ่งให้เน้นที่อาชีพก่อนเป็นหลัก เพื่อสร้างการเรียนรู้ ให้มีรายได้ มีต้นแบบความสำเร็จ แล้วขยายผลต่อยอด ไปที่ทักษะชีวิต สังคม ชุมชนต่อไป และการเรียนรู้คุณวุฒิตามระดับ มีวิธีการจัดการเรียนรู้ ต้องมีหลักสูตรอาจมีการรับรองคุณวุฒิตามความเหมาะสมได้จัดการเรียนรู้แบบเข้มข้น โดยดำเนินการจัดการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย และจัดให้มีระบบการสนับสนุนที่ชัดเจน ต่างจากเดิมที่ต้องดำเนินการจัดการศึกษาเองทั้งหมด ซึ่งในอนาคตอาจมีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นได้
การประชุมและเสวนาวิชาการในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดพื้นที่และมุมมองการเรียนรู้จากหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ แลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการเพื่อสร้างแนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ตลอดจนได้เป็นโอกาสในการวิเคราะห์สภาพการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อนำไปเป็นข้อมูลการวางภาพอนาคตในการส่งเสริมการเรียนรู้ สู่การพัฒนากรอบแนวคิด แนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองตาม มาตรา 9 และมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ที่กำหนดไว้ ได้อย่างถูกต้องชัดเจน ตลอดจนการเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนและกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป