หลังจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” แก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ  ข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา  วันนี้ focusnews.in.th มีโอกาสพูดคุยกับเสนาบดีแห่งวันจันทรเกษม “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” อีกครั้ง

เริ่มกันที่แนวทางหลักประเด็นหนึ่งที่จะนำไปสู่การที่เด็กจะเรียนดี มีความสุข ได้ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เจ้าของรหัส “เสมา 1” นั่นคือ การลดภาระผู้เรียน  เรื่องนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน อธิบายว่า ก็ให้ลดทั้งหมดที่จะเป็นภาระของเด็ก แต่ถ้าถามว่าทำอะไรก่อนอะไรหลัง เรื่องนี้ ขอฟังก่อน เพราะได้ให้ไปทำแบบสอบถามเพื่อฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังนโยบายเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว โดยมีทั้งจากฝ่ายบริหาร ผู้ปกครอง นักเรียน รวมถึงสื่อมวลชน จะทำให้รู้ว่า อะไรควรเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะผมไม่ได้ถืออัตตา จะเอาเรื่องนั้น เรื่องนี้มาก่อน มาหลัง และก็เอาแบบสอบถามมาเป็นแนวทางส่วนหนึ่ง  จะดูคนหมู่มาก ว่าเรื่องนี้ควรทำก่อน ก็จะจัด ผมบอกแล้วว่าผมไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว จึงต้องรับฟังทุกคน แล้วก็เน้นเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เสียงของประชาชนทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจ เพราะเราเป็นประชาธิปไตย

ถามว่า เรื่องการจัดหาแท็บเล็ตให้ครูและนักเรียน ตามโครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต เรื่องนี้ได้กำหนดสเปกแท็บเล็ต ว่าต้องเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพขนาดไหนเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิผล อย่างไร “เสมา 1”  บอกว่า เรื่องนี้เป็นแนวนโยบายในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย แต่เราก็ต้องมาดูเรื่องของงบประมาณ และขณะนี้ก็กำลังจะเข้าปีงบประมาณ 2567 แล้ว คงจะทำได้ไม่เท่าไหร่ ก็คงจะไปเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2568  แต่ก็อาจจะได้เพียงบางส่วน ต้องไปดูงบประมาณว่าจะปรับได้ขนาดไหน แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของแพลตฟอร์มจะต้องทำให้ได้ก่อน แล้วก็ทำคอนเทนท์ต่าง ๆ หรือสาระที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบัน เด็กที่มีโอกาสก็มีสื่อ อุปกรณ์พวกนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กที่มีสื่อและอุปกรณ์ก็จะได้ใช้ไปก่อน ส่วนเด็กด้อยโอกาสก็จะต้องมีกระบวนการอื่นมารองรับ  เช่น ในห้องสมุดซึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ก็สามารถไปเรียนรู้ได้ เพราะอันนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้เพิ่มเติม ยังไม่เต็มรูปแบบ เราทำจากสิ่งที่ไม่มีให้มีเพิ่มเติมขึ้น โดยไม่ได้ยกเลิกของเก่า

หลักการของผมคือการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามจะต้องไม่ทิ้งของเก่า แต่จะทำของใหม่ขึ้นมาในลักษณะคู่ขนาน เมื่อลองแล้วใช้ได้ผล ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ถึงจะยกเลิกของเก่า ไม่ใช่ว่าเข้ามาปั๊บจะยกเลิกเลย ซึ่งก็ได้ให้นโยบายกับโรงเรียนไปว่าในการเรียนการสอน ก็อาจจะบันทึกเทปแล้วเอาไปขึ้น YouTube แล้วเอามาประชาสัมพันธ์ให้เด็กไปดูย้อนหลังได้ไปก่อน  ส่วนปัญหาระบบเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง เราก็จะต้องทำโดยร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของเครือข่ายก็ทำอยู่แล้ว นอกจากนี้วันนี้ระบบการเรียนการสอนทางไกลเราก็มีของไกลกังวลอยู่ก็สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ในส่วนของการเรียนการสอนที่ขาดแคลนครู”พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

และเมื่อพูดถึงเรื่องเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เสมา 1 ก็ยอมรับว่าวันนี้อาจจะยังไม่ทั่วถึง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบก็พยายามที่จะขยายเครือข่ายเข้าไป ซึ่งอาจจะยังทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมว่าทำดีกว่าไม่ทำ อย่าให้อุปสรรคหรือข้อจำกัดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากีดกั้นที่จะไม่ทำเพื่อส่วนใหญ่  เราอาจจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาส ได้ 5% 10% 20% ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร แต่สิ่งสำคัญผมคิดว่าเรื่องของสื่อ คอนเทนท์ต้องทำให้ได้ก่อนที่จะไปทำเรื่องของฮาร์ดแวร์หรือเครือข่าย เพราะฉะนั้นผมจะรอสื่อให้ได้ก่อนแล้วเช็คระบบ ไม่มีปัญหา ไม่มีข้อบกพร่อง ไม่ Error แล้วค่อยขยายออกไป แต่ที่อยากให้เน้น คือ สื่อการเรียนต้องเน้นเรื่องของแบบทดสอบที่ต้องทำควบคู่ด้วย เด็กเรียนแล้วจะต้องมีการทดสอบการเรียนว่าเป็นอย่างไร มีความรู้ ความเข้าใจอย่างไร เรียนแล้วสามารถคิดวิเคราะห์เป็น เพราะฉะนั้นสื่อที่จะนำไปให้เด็กใช้ จะต้องมีบทเรียนที่ว่าทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถใช้สติปัญญาไม่ใช่จำอย่างเดียว

1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่จะทำให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพ ซึ่ง “เสมา 1” ยอมรับว่า เพราะเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จริง ๆ อยากทำให้ครบทุกโรงเรียน แต่เมื่อมีข้อจำกัด วิธีกระจายก็คืออย่างน้อยต้องมีโรงเรียนคุณภาพอำเภอละหนึ่งโรง แต่ต้องสามารถใช้ทรัพยากรและแหล่งเรียนรู้ร่วมกันได้ เช่น ห้องดนตรี ห้องวิจัย ห้องทดลอง สนามกีฬา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีทุกโรงเรียน ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

เมื่อถามว่าความเห็น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่มักจะมีการเกณฑ์เด็ก ๆ ไปร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต้นสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ตำรวจ เป็นต้นนั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน บอกว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นหลักประชาธิปไตย แล้วแต่เด็กหรือสถานศึกษาว่าจะไปหรือไม่ ให้ดูตามความเหมาะสม ซึ่งการร่วมกิจกรรมมองได้สองมุม บางทีอาจจะเสียเวลาไม่ค่อยได้ประโยชน์ อย่างกิจกรรมแห่เทียนหรือไปร่วมเชียร์กีฬา แต่อีกมุมก็เป็นการฝึกทักษะทำให้เรามีสมรรถนะในการทำงานร่วมกัน ก็ถือเป็นการเรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็อยู่ที่ผู้บริหารสถานศึกษารักที่จะทำหรือไม่ ผมถึงได้บอกว่าให้เน้นเรื่องฉันทะเป็นหลัก ถ้าเรารักที่จะทำก็ทำ อะไรคือสิ่งที่รักที่ชอบ อะไรที่เราไม่ชอบไม่สบายใจก็อย่าไปทำ อย่างผมมาเป็นรัฐมนตรี ผมก็รักผมก็อยากทำ แต่ก็ไม่ได้ผูกมัด พร้อมที่จะไปได้ตลอดเวลา ถ้าไม่เหมาะสมเราก็พร้อม ไม่ได้ยึดติด ผมไม่ได้เป็นครู แต่ผมเป็น “เสมา 1”และต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมคิดว่าเด็กก็เช่นเดียวกัน ผู้บริหารก็ต้องพิจารณาว่าการไปร่วมกิจกรรม คือการฝึกการเรียนรู้ ให้ดูความเหมาะสม ถ้าเด็กไปแล้วได้ประโยชน์ก็ให้ไปได้ อีกอย่างเขาก็ไม่ได้บังคับให้ไปทุกคน ให้ถามความสมัครใจถ้าอยากไปก็ไป

ถามว่าโครงสร้างของศึกษาธิการภาคตามคำสั่งของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กำหนดให้มี12 ตำแหน่ง แต่ตอนนี้มีเพียง 6 ตำแหน่ง ยังขาดอยู่ 6 ตำแหน่ง จะดำเนินการอย่างไร พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เรื่องนี้ ผมยังไม่ทราบต้องขอดูก่อน แต่ สิ่งที่ผมคิดตอนนี้ก็คือเรื่องของการเรียนรู้ของเด็กต้องมาก่อน เป็นเรื่องแรกที่ผมควรจะทำมากกว่าเรื่องสิทธิประโยชน์ของ ผู้บริหารน่าจะหลังจากแก้ปัญหาเด็ก ครูผู้สอนเด็ก ทำอย่างไรให้เด็กได้รับการเรียนรู้อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ผมคิดว่า งบประมาณที่มีควรจะทำเรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรกมากกว่า

ประเด็นสุดท้ายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่า“เสมา1” จะเป็นใครมาจากพรรคไหน รัฐบาลใด เรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครูจะต้องถูกหยิบขึ้นมาเป็นจุดขาย  ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ก็มีเป้าหมายนี้เช่นเดียวกัน ไม่ต่างจากอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่าน ๆ มา แถม “บิ๊กอุ้ม” ยังยกตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินในวันแถลงนโยบายการศึกษาจนเกิดเป็นดราม่า วิพากวิจารณ์กันสนั่นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะบอกให้ครูรวมรถไปสอน   ใส่ซอง 20 บาท  หรือไม่ก็ช่วยล้างจาน เป็นต้น

จากประสบการณ์กว่า 30 ปี ในแวดวงนักข่าวสายการศึกษา ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนสามารถแก้ปัญหาหนี้สินครูได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะวิธีการที่ใช้กันหลัก ๆ ก็ พักหนี้ รวมหนี้ ลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาการใช้หนี้ สอนเรื่องจัดระเบียบวิธีการใช้เงิน วางแผนทางการเงิน ฯลฯ แต่เอาเข้าจริงก็แก้ไม่ได้ พอแก้ทางนี้ได้หน่อยก็ไปปูดทางโน้นต่อ  ว่ากันว่า วงการ(หนี้)นี้เข้าง่ายออกยาก  กู้ง่ายจ่ายลำบาก จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมด แบกแต่ดอกต้นไม่ลด แต่ถึงอย่างไรก็ขอชื่นชมความตั้งใจที่จะการแก้ปัญหาหนี้ครูของรัฐบาลนี้  อย่างน้อยก็ไม่มองข้ามปัญหาสำคัญที่จะมาช่วยให้ครู(แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย)มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนได้อย่างแน่นอน

แต่ในความเป็นจริงก็ยังเชื่อว่า หนี้สินนี้เราสร้างด้วยตัวเราไม่มีใครสามารถมาปลดหนี้ให้เราได้หรอกนอกจากตัวเราเอง เรื่องนี้ “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” ต้องมาแล้วล่ะ  หนี้สร้างด้วยตัวเราฉันใด วินัยทางการเงินสร้างก็ได้ด้วยตัวเราฉันนั้น

*** เกาให้ถูกที่คัน นะท่าน “เสมา1”***

4.5 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments