นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงตนได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามนโยบาย และจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และ ความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะค้นหาติดตามผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา นั้น ขณะนี้ถือว่าดำเนินการได้แล้ว 95 – 98% โดยมีส่วนหนึ่งผู้เรียนหรือผู้ปกครองมีข้อจำกัด หรือ มีความจำเป็นไม่สามารถเข้าเรียนได้ คือ อาจจะเป็นกลุ่มเปราะบาง เป็นผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ หรืออยู่ห่างไกลชายขอบ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้หน่วยงานสถานศึกษาในสังกัดหารูปแบบที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนเหล่านั้น
ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับรูปแบบที่เหมาะสมในการทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ มีหลากหลายส่วน ไม่ว่าจะเรียนในระบบหรือนอกระบบก็ตาม แต่ส่วนหนึ่งในการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่ผู้เรียนอายุ 6 ถึง 15 ปีต้องอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ คือถึง ม.3 ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีข้อจำกัดว่าเป็นคนชายขอบ หรือ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือพ่อแม่มีความจำเป็น ส่วนหนึ่งก็จะมีหน่วยงานที่จะเข้ามารองรับได้อย่างดี ก็คือกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร. เพราะ สกร.หรือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)เดิม มีบทบาทภารกิจในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชาชน รวมถึงจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิตามระดับ คือจัดให้มีความรู้ในระดับชั้น ป. 6 ม.3 ม.6 แต่เด็กก็ไม่สามารถมาเรียนได้ถ้าหาก อายุยังไม่ถึงพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ คือ 15ปี แต่หากเด็กมีความจำเป็นไม่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปกติได้ด้วยเหตุต่าง ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนกับ สกร.ได้ในทุกระดับชั้น เพื่อทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน และยังเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่บอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกครั้งสอดคล้องกับบทบาทภารกิจของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่จะจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ประชาชนให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิตด้วย
“กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ยังมีจำนวนผู้ด้อยโอกาสที่หลุดระบบการศึกษาอีกถึงประมาณ 1-2% ในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้สถานศึกษาในสังกัดออกค้นหาและติดตามให้ผู้เรียนเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของผู้เรียนว่า ถ้าสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาพื้นฐานได้ให้นำกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ให้นำไปเรียนในสถานศึกษาเฉพาะด้าน เฉพาะทาง และถ้าหากเป็นเด็กกลุ่มเปราะบางผู้พิการก็ให้ส่งไปที่ศูนย์การศึกษาพิเศษหรือโรงเรียนเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นโสตศึกษา โรงเรียนพิการทางสายตา โรงเรียนที่ดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น และที่สำคัญเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากได้รับพระมหากรุณาธิคุณผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ให้เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งรับเด็กเข้าไปอยู่ประจำและดูแลในเรื่องของสวัสดิการสวัสดิภาพตลอดปีการศึกษา จนกว่าจะจบการศึกษาที่เด็กสามารถเรียนได้ ทำให้เด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ รวมถึงเข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีหน่วยจัดอยู่ในทุกหมู่บ้านทุกชุมชน ไม่ว่าจะอยู่บนดอย ชายขอบ เกาะ แก่ง ก็ตาม”นายธฤติกล่าว