วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน เรื่อง รายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานอาชีวศึกษาเอกชน ครู และบุคลากร สอศ. เข้าร่วม ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ที่มุ่งเน้นในเรื่องการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายของ สอศ. การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของ สอศ. บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการบริหารจัดการ การเสริมสร้างศักยภาพครู และนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา และเป็นเวทีที่ให้ผู้บริหาร บุคลากรอาชีวศึกษา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานต้นสังกัด และร่วมกันพัฒนาการอาชีวศึกษาเอกชน ให้กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
“สอศ. รับทราบและเข้าใจปัญหาในการจัดการอาชีวศึกษาเอกชน และพร้อมในการทำงานร่วมกับอาชีวศึกษาเอกชน โดยจะพัฒนาและเชื่อมโยงกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการจัดการการอาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว พร้อมทั้ง ร่วมกันวางแผน ออกแบบ เติมเต็มในส่วนของนโยบายที่สำคัญ โดยเฉพาะในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อาชีวะเอกชนและอาชีวศึกษาของรัฐ เปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน สามารถปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาได้ในทุก ๆ เรื่อง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อสร้างกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะสูงในการพัฒนาประเทศต่อไป”เลขาธิการกอศ.กล่าวและว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพบปะผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการสถานศึกษาเอกชน 444 แห่ง เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกันมาครบหนึ่งปี โดยครั้งนี้เราได้มาร่วมกันติดตามการดำเนินงานของสถาบันศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนว่าสามารถดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายไปได้มากน้อยแค่ไหน มีปัญหาอะไรบ้างเพื่อมาออกแบบการทำงานร่วมกันในปีต่อไป รวมถึงได้ฝากนโยบายที่สำคัญซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลและสอดคล้องกับการดำเนินการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา คือเรื่องของทวิภาคี โดยตนได้เน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาในอนาคตจะต้องทำร่วมกับภาคเอกชนซึ่งก็คือสถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานต่างๆ ให้มากขึ้นจึงขอให้สถานศึกษาเอกชนรีบไปปรับปรุงหลักสูตรทวิภาคี ที่ตอนนี้เพิ่งทำได้เพียง 10% ซึ่งตนมองว่ายังน้อยเกินไปสำหรับการพัฒนาคนให้ตอบโจทย์สถานประกอบการ ดังนั้นจะต้องเพิ่มสัดส่วนทวิภาคีให้มากขึ้นและทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับสถานประกอบการ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะส่งผลต่อการจัดการอาชีวศึกษาในภาพรวมอย่างไร ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลหรือรมว.ศึกษาธิการคนใหม่ยังคงขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งได้วางกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว อยู่ที่รัฐมนตรีหรือรัฐบาลจะมาหยิบประเด็นใดขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษ แต่ตนมั่นใจว่าอย่างน้อยเรื่องของทวิภาคีจะต้องขับเคลื่อนต่อแน่นอน เพราะเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นหัวใจปรัชญาของอาชีวศึกษาที่จะต้องไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพราะวันนี้ถ้าให้เด็กเรียนแต่ในวิทยาลัยไม่มีทางที่เด็กจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ชาวอาชีวศึกษาทุกคนพร้อมที่จะทำงานตามนโยบายของรัฐบาล และรมว.ศึกษาธิการคนใหม่
“สิ่งที่ สอศ.เป็นกังวลและเป็นปัญหาของเกือบทุกวิทยาลัยทุกวันนี้คือเรื่องงบประมาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟ ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับประชาชนที่กำลังประสบปัญหาค่าไฟสูงมาก เนื่องจากการเพิ่มค่าเอฟที ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งไม่ว่าจะของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)โรงเรียนเอกชน วิทยาลัยอาชีวะทั้งรัฐและเอกชนก็เจอปัญหานี้ ซึ่ง สอศ.จะประสานกับสำนักงบประมาณ หรือรัฐบาลเพื่อขอเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ มิฉะนั้นสถานศึกษาจะเดือดร้อนมากขึ้นโดยเฉพาะอาชีวะเราต้องเรียนปฏิบัติในช็อปในโรงฝึกงานก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ ใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจจะต้องพูดคุยกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหานี้”เลขาธิการ กอศ.กล่าว