เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมกรรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เป็นประธาน พิธีเปิดการใช้งานหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราชศึกษาวิถีใหม่ ระยะที่ 2 โดยใช้ระบบจักรวาลนฤมิต (Metaverse) ร่วมกับระบบภควันตภาพ (Ubiquitous Education) สำหรับผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)นครศรีธรรมราช โดยความร่วมมือจาก โรงเรียนในสังกัดทั้ง 71 โรงเรียน ในรูปแบบของสหวิทยาเขต 13 สหวิทยาเขต ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom จำนวน 196 คน และรับชมผ่านการถ่ายทอดในเพจเฟสบุ๊คกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จำนวน 89 คน ถ่ายทอดสดจากห้องประชุม 1 สพม.นครศรีธรรมราช โดยมีว่าที่ร้อยตรี นพดล รักษ์แก้ว ผอ.สพม.นครศรีธรรมราช ดร.วิมพ์วิภา รักสม และ ดร.ปชานนท์ ชนะราวี รอง ผอ.สพม.นครศรีธรรมราช ศึกษานิเทศก์ ตัวแทนครู และนักเรียน เข้าร่วมในห้องประชุม จำนวน 50 คน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราชศึกษาวิถีใหม่ ระยะที่ 2 ครั้งนี้ ได้สร้างความรู้สึกประทับใจและสร้างความมหัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทุกท่านได้ร่วมกันสร้าง Time Machine ที่จะพาทุกคนย้อนจากโลกอนาคต กลับไปสู่โลกในอดีต และเข้าถึงกลุ่มนักเรียนรุ่นใหม่ได้อย่างทั่วถึง เพราะมีการใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นสื่อในการเรียนการสอน ซึ่งจะส่งผลทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ผ่านระบบจักรวาลนฤมิตและระบบภควันตภาพที่สามารถเข้าถึงการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ทุกที่ ทุกเวลา
“ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ได้มาดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติ : ภูมิภาค ภาคใต้ ผ่านมาถึงวันนี้ สพม.นครศรีธรรมราช ได้รวบรวมเอาเนื้อหาความรู้และองค์ประกอบจากกิจกรรมในแต่ละซุ้มนิทรรศการมาสร้างเป็นเนื้อหา (content) ที่อุดมด้วยความรู้ และสามารถสานสัมพันธ์อันดีเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เจตคติ รวมถึงความรักและความภาคภูมิใจในชาติจากผู้อาวุโสสู่นักเรียนรุ่นใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถนำไปขยายผล และถ่ายทอดต่อไปเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เช่นที่ปรากฏในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนับได้ว่าเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด รวมถึงโรงเรียนทั้ง 71 แห่ง ที่ได้ร่วมกันทำให้ทุกคนได้รับรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของท้องถิ่นตามบริบทของตนเองได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ และได้สานต่อมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ให้กับลูกหลาน”ดร.เกศทิพย์ กล่าว
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตนยังได้เยี่ยมค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ OBEC Youth Camp”ซึ่งต้องขอชื่นชมคณะครูที่อยู่ร่วมดำเนินกิจกรรมกับนักเรียน ถือเป็นค่ายต้นแบบที่ดำเนินการโดยทีมวิทยากรคุณภาพ ที่ช่วยพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีทั้งความรู้ ทัศนคติที่ดี มีจิตสาธารณะและมีคุณธรรมควบคู่ไปด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ ทั้งนี้การดำเนินการค่ายฯ เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่สำคัญคือทีมวิทยากรระดับประเทศของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาพรรณ จูเจริญ ซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม และคณะ ร่วมดำเนินกิจกรรม รวมไปถึงทีมคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี (เด็กไทยใฝ่ดี) อีกส่วนหนึ่งคือทีมคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ โดยวิทยากร พลเอก ดร.ศรุต นาควัชระ ที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมบ่มเพาะนักเรียนให้มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและสามารถสื่อสารออกมาอย่างสร้างสรรค์ด้วยการใช้วิธีการเชิงบวก เป็นสิ่งที่สำเร็จร่วมกันระหว่างการจัดค่ายในจุดที่ 1 และจุดที่ 2 คือ นักเรียนทุกคนมีความตั้งใจและมีความพร้อมต่อการสร้างประโยชน์เพื่อสาธารณะ ซึ่งผลการดำเนินการที่เกิดขึ้นนี้สามารถถอดบทเรียนมาใช้ในการขยายผลทั่วประเทศได้ และขอให้เราทุกคนภาคภูมิใจในส่วนที่เราได้เป็นต้นแบบที่สำคัญ และได้นำสิ่งที่ดี ๆ จากค่ายนี้ ไปสื่อสารและเผยแพร่ต่อไป