ที่ ห้องประชุมไทยาจารย์ สำนักงานเลขาธิการครุสภา วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และร่วมขับเคลื่อนสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู ระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ผู้บริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ระยะการดำเนินงานระหว่างปี 2566-2570
ทั้งนี้ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือกันสนับสนุนการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยผ่านการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรมจริยธรรม มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนทุกคน เพื่อสนับสนุนการปรับระบบผลิตและพัฒนาครู โดยให้มีสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู ตามเจตนารมณ์ ของพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อสนับสนุนให้มีระบบการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน พัฒนาและสร้างเสริมทักษะวิชาชีพครูตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาให้ตรงกับความต้องการ และเพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการสนับสนุน ส่งเสริม และปรับปรุงการผลิตและพัฒนาครูของประเทศ
“ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กสศ. ได้ร่วมกันวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตวิญญาณความเป็นครูตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด สนับสนุนให้สถาบันผลิตและพัฒนาครู ออกแบบและปรับปรุงแผนการผลิตและพัฒนาครูแนวใหม่ ครอบคลุมการพัฒนากลุ่มเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจของประเทศ”เลขาธิการคุรุสภา กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ.มีพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอยู่แล้ว เช่น ดำเนินโครงการทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ สำนักงานเลขาธิการ คุรุสภา ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นครูรุ่นใหม่ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการในลักษณะของโซเชี่ยลแล๊บ (SOCIAL LAB) ด้วยแนวคิดสร้างโอกาส ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนของคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ และการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลไปพร้อมๆ กับการมีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาครู เพื่อให้ครูรุ่นใหม่เป็น “ครูนักพัฒนา” หรือ “ครูนวัตกรชุมชน” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดปัญหาการขาดแคลนครูอย่างยั่งยืน
“ปัจจุบัน กสศ. ได้สร้างโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุด ร้อยละ 20 แรกของประเทศ ให้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อกลับไปสร้างโอกาสให้นักเรียนและโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดตนเองแล้ว 4 รุ่น รวม 1,172 คน จากเป้าหมาย 1,500 คน และทั้งหมดมีผลการเรียนดีตามเกณฑ์ พบอัตราการเสี่ยงหลุดออกจากระบบเพียงร้อยละ 0.34 โดยครูเหล่านี้จะกระจายตัวทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ 60 จังหวัด 635 ตำบล และปี 2567 นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 327 อัตรา จะได้รับการบรรจุ เป็นข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น สาขาปฐมวัย และประถมศึกษา ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล 281 แห่ง ใน 44 จังหวัด และจะติดตามความก้าวหน้าต่อเนื่อง 6 ปี ดังนั้น ผลการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า การผลิตและพัฒนาครูคุณภาพสูงตามความต้องการที่แท้จริงมีความเป็นไปได้ และจะเป็นต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูในโครงการของรัฐในระยะต่อไปได้ บนความร่วมมือการทำงานกันอย่างใกล้ชิดของภาคีด้านการศึกษา โดยขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตและพัฒนาครู และพร้อมจะเป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูจำนวน 19 แห่ง”ดร.ไกรยส กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม กสศ หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าการลงนามความร่วมมือกันในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์คุณูปการต่อระบบการผลิตและพัฒนาครูของประเทศในอนาคต ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดปัญหาการโยกย้ายการขาดแคลนครูในพื้นที่โรงเรียนห่างไกล และเพิ่มอัตราการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและเป็นต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูรุในใหม่ต่อไป