เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทยในระดับภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษาในภูมิภาค” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษานิเทศก์ (ศก.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 300 คน ว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ให้ความสำคัญ และมีเขียนไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งมีอยู่ 6 ด้าน โดยเรื่องการศึกษาถูกจัดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติด้านที่สาม คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านที่สี่ คือ ด้านความเสมอภาคและการเท่าเทียม และในด้านที่หก คือ ด้านการจัดระเบียบโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงระเบียบโครงสร้างของราชการ รวมถึงโครงสร้างการบริหารการศึกษาด้วย ขณะเดียวกันก็กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ 14 ด้าน โดยแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเป็นด้านที่ 14 ซึ่งแผนปฏิรูปประเทศแบ่งออกเป็น 3 ยุค ๆละ 5 ปี โดยยุคแรก(2560-2565) ได้จบลงแล้ว ตอนนี้ได้เข้าสู่ยุคที่สอง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนี้ไปก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาซึ่งก็สอดคล้องกับการจะมีรัฐบาลใหม่ ที่จะมาพร้อมกับนโยบายใหม่ แต่อาจจะเป็นรัฐมนตรีเก่าก็ได้ แต่เราก็ต้องเตรียมรับมือกับสิ่งแวดล้อมและหรือสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งคนรุ่นเราไม่เคยเห็น ไม่เคยพบไม่เคยรู้สึกและรู้สึกจะทนทานไม่ได้ แต่วันนี้เราจำเป็นต้องอยู่กับมัน มือซ้ายต้องถือแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาใหม่มือขวาต้องถือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในยุคที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลใหม่ ปากก็ต้องคาบนโยบายใหม่ เท้าต้องเดินต้องขับ ต้องเคลื่อน เพื่อไม่ให้ตกยุค ตกสมัย ตกรุ่น ดังนั้นเราต้องเข้าใจและเรียนรู้ให้ทันตามยุค ตามสมัย เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการเห็น ซึ่งโครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนภูมิภาคก็คือการพูดถึงศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเป็นการปฏิรูปในเชิงบริหารหรือเชิงโครงสร้าง ส่วนเนื้อหาสาระปฏิรูปครู ปฏิรูปวิธีเรียน วิธีสอน ปฏิรูปโรงเรียน อุปกรณ์การศึกษา ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปวิธีการประเมินผลก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะย่อหย่อนจากกันไม่ได้จะต้องยกระดับขึ้นมาให้เท่ากันและเดินหน้าอย่างรวดเร็ว
“จริง ๆ แล้วการขับเคลื่อนประเทศด้านการศึกษา มีการออกแบบ มาตั้งแต่ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาในปี 2557 ก็หยิบเรื่องนี้มาทำตั้งแต่แรก ซึ่งใช้ความพยายามทำด้วยความยากลำบาก ถึงขนาดมีการหยิบคำพูดที่ว่า กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใดการศึกษาเป็นไปเช่นนั้น แต่สำหรับการปฏิรูปการศึกษาแล้วต้องใช้ว่า กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การปฏิรูปการศึกษาย่อมเป็นไปหนักกว่านั้น เพราะความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูป โดยเฉพาะปฏิรูปการศึกษาจะเจอปัญหาสำคัญอุปสรรคสำคัญ 3-4 ข้อ คือ 1. ความไม่เคยชินของคน เพราะคนเคยชินกับแบบเก่า กอดแบบเก่าไว้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปใช้แบบใหม่ 2. ความขัดแย้งของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เด็กกับผู้ใหญ่ ซึ่งก็คล้ายกับความเคยชิน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะผสมผสานสองวัยนี้เข้าด้วยกัน อย่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ อดีตนายกรัฐมนตรี พูดว่า เด็กกับผู้ใหญ่หรือคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าต่างกันที่ว่าเด็กมีจุดอ่อนสำคัญคือไม่เคยเป็นผู้ใหญ่แต่ผู้ใหญ่เคยเป็นเด็ก ขณะเดียวกัน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีคนถามว่าทำไมถึงคบเด็กสร้างบ้าน คือคณะทำงานของท่านจะมีแต่เด็กรุ่นใหม่ ท่านบอกว่า เด็กกับผู้ใหญ่หรือคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ต่างกันที่ว่า คนรุ่นเก่ามีแต่อดีตไม่มีอนาคต คนรุ่นใหม่มีอนาคตมีความฝันแต่ไม่มีอดีต คือ บางครั้งไม่รู้ว่าสิ่งที่ฝันอยากเห็นอยากทำเค้าเคยทำมาแล้วและพลาดมาแล้ว”ศ.ดร.วิษณุ กล่าวและว่า ดังนั้นเมื่อเราเอาสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่มาพูดเราก็จะพบว่า ในการทำการปฏิรูปไม่ว่าจะด้านใดจะเป็นการต่อสู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ 3. การปฏิรูปประเทศจะต้องลงทุนใช้เงินใช้ทอง ลงทุนเวลา ใช้เวลานาน กว่าจะเห็นผลสำเร็จแล้วจะทนไม่ได้ และ 4. การปฏิรูปอะไรก็ตามมักจะไม่ยืนยงถาวร เพราะเจออุปสรรค 3 ข้อ แล้วใครมีปัญญาปฏิรูปก็ทำไปพอถึงวันหนึ่งก็จะมีคนคิดปฏิรูปอีกแบบหนึ่งหรือกลับไปสู่แบบเก่าเสมอจึงต้องต้านและสร้างความเสถียรภาพมั่นคงยั่งยืนถาวรให้อยู่ให้ได้ซึ่งการจะอยู่ได้ต้องให้คนยอมรับ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า วันนี้การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษามีส่วนสำคัญคือการขับเคลื่อน เพราะมีแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาแล้ว มีแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาแล้ว และก็มีคณะกรรมการขับเคลื่อนด้วย แสดงว่า การปฏิรูปด้านการศึกษาเป็นเรื่องยุ่งยากและยากต่อการเปลี่ยนแปลง วันนี้เรามีกรรมการขับเคลื่อนการบริหารขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคเขาฝากผี ฝากไข้ ไว้กับศึกษาธิการภาค คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธภ.เป็นรอง เช่นเดียวกับส่วนกลางที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเลขานุการ และมีภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการ เพราะฉะนั้น ศธจ.น่าจะต้องเข้าใจแล้วว่า ตัวเอง คือ ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาในภูมิภาค จะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งสภาการศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอาจต้องดูแลไปถึงเรื่องสุขภาพ ความเท่าเทียม ดูแลการศึกษาของท้องถิ่น ทั้ง ภาครัฐและเอกชน ขณะที่ ศธภ.จะต้องเป็นศูนย์กลางบูรณาการทุกภาคส่วน ระหว่างภาครัฐและเอกชน บูรณาการหน่วยงานในสังกัด ศธ. ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้ต้องคัดเลือกคนออกไปเป็นศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดที่มีคุณภาพ ต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่แทนกระทรวงศึกษาธิการได้ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนได้ทั้งหมด
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนในฐานะรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงศึกษา (ศธ.) ไม่มีนโยบาย แต่ศธ. ต้องบริหารภายใต้นโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่มาพูดกันช่วงปลายรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือนโยบายของรัฐบาลใหม่ ต้องดูว่า มีนโยบายพิเศษอะไรที่นอกเหนือจากแผนการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ แต่ส่วนตัวอยากจะฝาก เป็นสิ่งที่พยายามผลักดันตลอดเวลาที่ผ่านมา คือ เรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งอยากให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบใหม่ ที่นอกเหนือจากการท่องจำ ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนมีความสนุกขึ้น และคนไทยทุกวันนี้ห่างเหิน ทอดทิ้งเรื่องประวัติศาสตร์ ภาษาไทยวรรณคดีไทยไปมาก จึงคิดว่าควรจะต้องฟื้นกลับมา เพื่อสร้างความสวดสดงดงาม และความภาคภูมิใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่