เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดชายภาคใต้ โดยมี นายไกรศร วิศิษฐวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ผู้แทนจังหวัดยะลา ผู้แทนจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้ร่วมโครงการ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ กว่า 500 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมซี.เอส ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี
นายไกรศร วิศิษฐวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวรายงานว่า จังหวัดปัตตานี ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาที่สุด เพราะเป็นเส้นเลือดอันหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานี ซึ่งตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้มีการประสานงานกับศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาในจังหวัด และยังส่งเสริมให้โรงเรียนไปร่วมโครงการต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนขยายโอกาส อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และได้เปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ที่สำคัญคือครูได้มีการบูรณาการในเรื่องของตารางการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียน ส่วนเรื่องการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยให้รางวัลว่าวันนี้ถ้าสถานศึกษาใดคิดนวัตกรรมเรื่องของการจัดการขยะ และให้เด็กมีทัศนคติในการแยกขยะก็จะตั้งรางวัลให้ อีกทั้งยังมีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการในการลงไปเยี่ยมโรงเรียนในอำเภอต่างๆด้วย นอกจากนี้จังหวัดปัตตานี ยังมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นที่ยอมรับ ซึ่งทุกส่วนได้มีการบูรณาการสร้างสรรค์งานออกมาค่อนข้างมากและที่สำคัญคือเราต้องการนวัตกรรมและทัศนคติในการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดินหน้าไปได้
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีเป้าหมายหลักเหมือนกับโรงเรียนทั่วประเทศ คือ สิ่งที่จะต้องทำให้บรรลุให้ได้ก็คือ เรื่องของการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เป็นปัญหาของประเทศ เรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจ และการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม สำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จะมีความโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น เพราะมีลักษณะของเรื่องประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นการที่เราจะทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการบูรณาการร่วมมือขับเคลื่อนการศึกษาไปด้วยกันได้ ก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่จะทำให้เห็นว่า ระดับภาคเดียวกันมีการเชื่อมโยงการทำงานให้มีความสำเร็จได้
“โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นกรณีศึกษา ที่จะต้องทำงานร่วมกันกับเราอย่างเต็มที่ซึ่งจะต้องค้นพบให้ได้ว่า วิธีการยกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาติดตรงไหน วิธีที่จะลดความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงไหน วิธีที่จะสร้างกลไกความร่วมมือหรือในการกระจายอำนาจจะต้องไปปลดล็อคตรงไหน ซึ่งโรงเรียนนำร่องเหล่านี้จะต้องทำงานหนักกว่าโรงเรียนปกติและต้องหาคำตอบให้ได้ ต้องเดินไปให้ได้ว่าถ้าจะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพจะต้องไปปลดล็อคตรงจุดไหนหรือไปสร้างกลไกตรงไหน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของบริบทพื้นที่ วัตถุประสงค์ของการกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็คือเราจะเน้นเรื่องของการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา ในฐานะที่ตนรับผิดชอบจังหวัดชายแดนใต้ ก็ดำเนินการทำงานควบคู่กันไปทั้ง 3 จังหวัด แม้ว่าจะกำหนดพื้นที่ฯจังหวัดปัตตานี เป็นหลักแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่จะออกเป็นกฎหมายอีกครั้งว่าจะกำหนดอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมหรือแนวคิดของการบริหารหรือในเรื่องของยกระดับผลสัมฤทธิ์นั้นได้ดำเนินการตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วด้วยการทำงานอย่างเข้มแข็งของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศธ.ได้มอบหมายให้ สพฐ.เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ และทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องของการทำงาน ความเป็นอิสระ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)เพื่อให้ออกเป็นกฎหมาย และโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องฯก็จะมีความพิเศษในเรื่องของการบริหารทั้งในเรื่องการจัดการเรียนการสอน ความเป็นอิสระในการบริหาร งบประมาณ ซึ่งจะมีทั้งโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะเป็นการร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย และที่สำคัญต่อไปนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะไม่ใช่พื้นที่ ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ อีกต่อไปแล้ว