เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.)กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทยในระดับภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร โดยมีศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษานิเทศก์ (ศก.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 300 คน ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาในระดับภูมิภาค และการส่งเสริมการพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่ ส่งเสริมการมีสำนึกพลเมือง รักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชากรทุกช่วงวัยเข้าถึงโอกาสในการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาทุกกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาศักยภาพตามความสามารถและความถนัดของผู้เรียน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนความผันผวน ซับซ้อน ที่กำลังปรับเปลี่ยนจากยุค VUCA World เข้าสู่ยุค BANI World ที่มีความเปราะบาง ความไม่แน่นอน เพื่อขับเคลื่อนกลไกการบริหารและการจัดการศึกษาแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ ในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาทุกระดับ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของประเทศด้านการศึกษาและการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่
“การขับเคลื่อนดำเนินงานในระยะต่อไป สป.ศธ.จำเป็นต้องมีการทบทวน ปรับปรุง ออกแบบแผนการดำเนินงาน กลไก เทคนิค รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งจัดทำชุดโครงการสำคัญ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และตัวชี้วัดในแต่ละพันธกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด มุ่งเน้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังระดับพื้นที่ ให้สามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น” ปลัด ศธ. กล่าวและว่า ศธ. ในยุคปัจจุบัน ต้องพยายามผลักดันให้ภาคสังคม ซึ่งหมายรวมถึง พรรคการเมือง ส.ส.ใหม่ เห็นถึงความสำคัญของศธจ. ศธภ. เพราะจะส่งผลต่องบประมาณการจัดการศึกษาที่จะได้รับ ซึ่งหลังจากได้รัฐบาลใหม่ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณ ให้เข้ากับนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ รวมถึงต้องเป็นไปตามนโยบายสำคัญของศธ. คือ คุณภาพการศึกษา ที่จะต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของศธ. ซึ่งตนเน้นย้ำเสมอว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษา อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับ ภารกิจของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ด้วย
ดร.อรรถพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ภารกิจการทำงานเปลี่ยนไป การบริหารงานบุคคลถูกโอนกลับไปให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา งานของ ศธจ.ต้องเน้นเชิงวิชาการ โดยต้องเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงงานการศึกษาระหว่างศธ.กับจังหวัด รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการศึกษา ผลักดันแนวนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติ และต้องเข้าใจด้วยว่า วันนี้โลกไม่เหมือนเดิม มีความผันผวน และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกหน่วยงานจัดการศึกษาโดยบริหารด้วยตัวเลข ทั้งตัวเลขเด็กออกกลางคัน งบประมาณรายหัว ฯลฯ ประกอบกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เด็กเรียนรู้ผ่านออนไลน์ เกิดความผันผวนในระบบการศึกษา ตัวเลขผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น 12% หรือ 20 กว่าล้านคน ส่งผลในเรื่องการสาธารณสุข งบคนชราสูงขึ้น อาชีพต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นหน้าที่ของ ศธ.ต้องไปดูว่า จะจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยและบุคคล ซึ่งต้องเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย ศธจ.ต้องมองให้เห็นภาพรวม เพื่อหล่อหลอมเยาวชนให้เป็นคนที่สมบูรณ์
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นงานสำคัญของ ศธจ. ศธภ.ที่ต้องทำให้คุณภาพการศึกษาของจังหวัดดีขึ้น ในขณะที่งบฯส่วนใหญ่ของศธ. ถูกใช้ไปกับเรื่องการบริหารงานบุคคล ทำให้มีงบฯสำหรับการพัฒนาการจัดการศึกษาจริง ๆ แค่ 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องพยายามพลิกโฉมการศึกษาของประเทศ หลักสูตรต้องมีการพัฒนาทุกปี การวัดประเมินผลต้องให้สอคล้องเหมาะสมกับบริบทการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหน้าที่ของศธจ.ที่ต้องไปดูรายละเอียด รวมถึงจะต้องดูรายงานข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณา โดยล่าสุด รายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าเครื่องจักรแทนแรงงานคน กว่า 30% และภายใน 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีแนวโน้มจะใช้เครื่องจักรแทนคน เพิ่มขึ้นเป็น 70% ดังนั้น จึงต้องดูข้อมูล เพื่อวิเคราะห์การผลิตกำลังคนเพื่อมาใช้กับเครื่องจักรเหล่านี้ ซึ่งภายใน 3 ปี อาจผลิตคนไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงต้องปรับเป็นรูปแบบการอัพสกิล รีสกิล เพื่อผลิตกำลังคน เข้าไปสู่ระบบการทำงาน
ดร.อรรถพล กล่าวด้วยว่า สำหรับ สกร. ซึ่งจัดการศึกษานอกระบบก็จะต้องไปพัฒนาคน เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ เพราะกำลังคนในยุคต่อไปต้องมีทักษะการทำงานที่ 2 จึงจะรักษาระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในปัจจุบันไว้ได้ รวมถึงจะต้องมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือชั้นสูงกว่า 2.5 เท่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องบอกสถานศึกษาที่ผลิตกำลังคน ว่า การผลิตแรงงานทักษะ จะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ และเด็กยากจน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ ศธจ.ที่จะต้องเข้าไปดูแลให้เข้าสู่ระบบการจัดการศึกษา เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีอาชีพ มีรายได้ดูแลตัวเอง โดย ศธจ.ซึ่งเป็นตัวแทนในส่วนจังหวัด และ ศธภ.ที่เป็นตัวแทนในส่วนของภูมิภาค จะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน และ อาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ให้องค์ความรู้ในเชิงพื้นที่เพื่อดูแลขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตนตั้งเป้าว่า จะต้องมี อส.ศธ.หมู่บ้านละ 1 คน แน่นอนว่า ตอนนี้ ยังให้ทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร แต่ในอนาคต จะผลักดันให้มีเงินสนับสนุนเช่นเดียวกับ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)
“หากได้รัฐบาลใหม่ อันดับแรก ผมจะเสนอตั้ง ศธภ.เพื่อเติมให้เต็มอีก 5 ตำแหน่งที่ว่าง ให้ครบ 12 ตำแหน่ง ตามอัตราเงินเดือนที่มีอยู่ จากนั้นจะเตรียมข้อมูลเรื่องตำแหน่งบริหารสูง แทนกลุ่มที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ และกลุ่มที่ขยับไปเป็น ศธภ. รวมถึงการเตรียมข้อมูลสำหรับกลุ่มบริหารต้นที่ว่างลงจากการเกษียณฯ และตำแหน่งบริหารสูงระดับ 10 เพื่อเสนอให้รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ พิจารณา และอยากบอกว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารได้ แต่ขอให้แสดงให้เห็นว่าได้ทำงานเต็มที่ตามความรู้ความสามารถ ที่สำคัญไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้เงินซื้อตำแหน่ง โดยเฉพาะผมจะไม่ยุ่งเรื่องผลประโยชน์เพราะอยากเกษียณอย่างมีความสุข” ปลัด ศธ.กล่าว